ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
" เรามาทำงานการเมือง ไม่ใช่มาเล่นการเมือง เพราะฉะนั้นต้อง ทำงาน ไม่ใช่เข้ามากอบโกย " อปท.นิวส์ เชิญ ก้าน กุณะวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาอ้อ จ.เลย เป็นแขก
12 ธ.ค. 2562

     “ซึ่งถ้าเราทำตามหน้าที่บทบาทอย่างจริงจัง และให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน คือเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาต้องการอย่างแท้จริง และที่สำคัญต้องมีหลักธรรมาภิบาล ซึ่งถ้าทำแบบนี้การจะดำเนินงานอะไรก็จะเกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อจากนี้ก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาตำบลนาอ้อให้เป็นพื้นที่สมาร์ท ซิตี้ ในการให้บริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งคิดว่าน่าจะทำได้ และไม่ยากที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน”

     หากจะพูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่โดดเด่นและน่าติดตามเป็นตัวอย่างแห่งหนึ่งแห่งใดแล้ว “เทศบาลตำบลนาอ้อ” อำเภอเมือง จังหวัดเลย ย่อมเป็นหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะละเลยไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ เพราะชุมชนแห่งนี้กล่าวกันว่า เป็นหนึ่งใน“ต้นแบบของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง” และแน่นอนเมื่อชุมชนแห่งนี้ถูกกล่าวขานถึง ทุกสายตาย่อมต้องมองลึกลงไปถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องดีๆ แก่ชุมชนชนแห่งนี้ขึ้น ซึ่งก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ก้าน กุณะวงษ์” นายกเทศมนตรีตำบลนาอ้อ นั่นเอง
 
 
     อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปรู้จักกับนายกเทศมนตรีผู้นี้ ขอย้อนไปกล่าวถึงความเป็นมาของ“เทศบาลตำบลนาอ้อ”แห่งนี้สักนิด ซึ่ง“เทศบาลตำบลนาอ้อ”เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาลตำบล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขาภิบาล พ.ศ.2495 ต่อมามี พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาลในปีพ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2542 มีพื้นที่ประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร 
ภายหลังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาอ้อได้ยุบรวมเข้ากับเทศบาลตำบลนาอ้อตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศทั่วไป เล่ม 121 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2547 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ทำให้มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 42 ตารางกิโลเมตร จนกระทั่งปัจจุบัน เทศบาลตำบลนาอ้อ เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้โครงสร้างทางสังคมเป็นลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน และยังมีการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นเอาไว้เป็นอย่างดี
 
 
 
และภายใต้การดำรงอยู่ของสิ่งที่ดีดังกล่าวนี้เอง คือสิ่งที่คุณก้าน กุณะวงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาอ้อ ปกป้องและสร้างสรรค์ให้ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ ก้านเริ่มเล่าให้“อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก”ฟังว่า ตัวเขาเป็นคนพื้นเพที่นี่มาตั้งแต่เกิดพอจบการศึกษาก็เข้ารับราชการเป็นครูสอนอยู่ที่ชุมชนบ้านนาอ้อ ส่วนตัวนั้นชอบทำงานเกี่ยวกับการเกษตรมาตั้งแต่ต้น และก็ทำการเกษตรควบคู่ไปด้วยตามความรู้ความถนัดที่จบการศึกษามา ซึ่งก็ไม่คิดเหมือนกันว่า มาถึงวันนี้ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับการเมืองอย่างจริงจังเพราะเดิมไม่ชอบ 
 
     อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องเข้ามางานด้านการเมืองในชุมชนแห่งนี้ จะว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ เพราะเดิมทีชุมชนนาอ้อไม่มีองค์กรที่จะมาดูแลพี่น้องในเรื่องของสวัสดิการ ขณะที่พื้นที่อื่นยังมีองค์กร มีมูลนิธิ เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งหากมีภัยพิบัติหรือมีเหตุการณ์อะไรที่ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือพวกเขาก็สามารถช่วยเหลือกันได้ จึงมีแนวคิดอยากให้ชุมชนพื้นที่นาอ้อแห่งนี้เกิดขึ้นหรือมีแบบนั้นบ้าง ซึ่งได้หาคนที่มีจิตสาธารณะมาดำเนินการร่วมกันในการดูแลชาวบ้าน รวมถึงการให้บริการช่วยเหลือหากชาวบ้านประสบภัยพิบัติหรือเคราะห์กรรมต่างๆ โดยเรียกกลุ่มนี้ว่า“องค์กรผู้อุทิศตนเพื่อชุมชนและสังคมตำบลนาอ้อ” ที่มีเป้าหมายรวมกลุ่มกันขึ้นมาช่วยเหลือชาวบ้านตามกำลังของแต่ละคน 
 
“ใครมีมากเขาก็ให้มาก ใครมีน้อยก็แล้วแต่กำลัง คือไม่ใช่ประชุมแล้วได้เงินนะ แต่ประชุมแล้วเสียเงินเพื่อที่จะนำไปรวมกันไว้ใช้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหา หรือจะเป็นงานบุญ งานศพ ก็นำเงินเหล่านั้นมาช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนของเรา” นายก ก้าน กล่าวถึงแรงผลักดันและการเริ่มต้นสร้างกลุ่มเพื่อช่วยเหลือชุมชนนาอ้อพร้อมกับปิดเผยต่อไปว่า
 
“เดิมทีคิดว่าพอลูกเรียนจบแล้วจะออกมาประกอบอาชีพอิสระ เพราะชอบการเกษตร ก็เลี้ยงหมูเพาะเลี้ยงจำหน่าย และได้ลาออกจากราชการมา ซึ่งตอนนั้นอายุราชการก็เหลืออยู่ 12 ปี ก็ตัดสินใจลาออกเมื่อปี 2544 และเมื่อปี 2545 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่หมู่บ้านในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัสมาก เพราะน้ำท่วมมิดหลังคาบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน” 
 
“เราก็มองเห็นว่าทางพื้นที่ท้องถิ่นก็เข้าไปช่วยเหลือพี่น้อง เอาเรือไปมอบข้าวสารอาหารแห้ง และเราก็มาคิดว่าไปมอบแล้วชาวบ้านจะประกอบอาหารกันอย่างไร เพราะน้ำท่วมมิดหลังคาขนาดนั้น ก็เลยคิดว่าเราไปตั้งเต๊นท์ส่วนกลางและทำข้าวปลาอาหารใส่กล่องไปแจกให้กับพี่น้องชาวบ้าน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีคนออกมาร่วมด้วยช่วยกันจำนวนมาก จนกระทั่งน้ำลด และพอน้ำลดเราก็เข้าไปในพื้นที่ดูแลเยียวยาเพราะบ้านเรือนจมน้ำและโคลนกัน ซึ่งพอเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมนี้คลี่คลาย เราก็เสร็จสิ้นภารกิจ”
 
 
     อย่างไรก็ตาม นายก ก้าน กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญที่ตามมาคือเรื่องความเป็นธรรมที่พี่น้องชาวบ้านได้ไปร้องเรียนคือเรื่องการช่วยเหลือ รวมถึงเรื่องบางพื้นที่น้ำท่วมบางพื้นที่น้ำไม่ท่วม ซึ่งก็เห็นว่าถ้าช่วยเหลือไม่สุดก็คงจะไม่จบ ก็เลยขันอาสาว่าใครที่จะมาช่วยพี่น้องชาวบ้านก็ให้ลาออกจากองค์กรฯ แล้วก็มาตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า “กลุ่มรักนาอ้อ”ที่จะให้บริการพี่น้อง ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่างๆให้กับชาวบ้านจนกระทั่งปี 2548 มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็ได้ชูนโยบายว่าจะมาทำการเมืองแบบใหม่
 
“คือจะไม่ซื้อเสียง ซึ่งถ้าผมหรือทีมงามซื้อเสียงก็ไม่ต้องเลือกพวกเรา รวมทั้งไม่ฮั้วงานประมูลและให้พี่น้องชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจดูแลท้องถิ่น จนพี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจจากนโยบายที่เราวางไว้และเราสามารถทำได้จริง จนอยู่ได้มาสมัยแรกและสมัยที่สองก็ไม่มีคนเข้ามาลงแข่ง จนได้ทำงานต่อเนื่องมาด้วยนโยบายที่ตั้งไว้ที่จะไม่ซื้อเสียงเด็ดขาด ให้พี่น้องชาวบ้านเลือกเราเพราะเราทำงานจริง โดยย้ำอยู่เสมอว่า เรามาทำงานการเมือง ไม่ใช่มาเล่นการเมือง เพราะฉะนั้นต้องทำงานไม่ใช่เข้ามากอบโกย”
 
     นายกก้าน เล่าต่อว่าการทำงานของทีมต้องมีคุณธรรมจริยธรรม เมื่อพี่น้องประชาชนเลือกเข้ามา ดังนั้นต้องทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ต้องพัฒนาดูแลบ้านเมืองชุมชนของเรา โดยให้พี่น้องชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย คืออย่าลืมถามพี่น้องชาวบ้านว่าเขาต้องการอะไรในพื้นที่บ้านและชุมชนของเขาด้วย ซึ่งถามว่าเรายึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ตรงนี้หรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่าไม่ ซึ่งถ้าหากมีกลุ่มไหนมีแนวนโยบายมีความรู้ความสามารถที่พอจะขยับขึ้นมาทำงานได้ เราก็อยากให้มาทำงาน เราจะได้เกื้อกันไปหนุนกันไปในการทำงานเพื่อท้องถิ่นชุมชนของเรา 
 
 
     นายกก้าน ย้ำให้เราฟังว่า นอกจากจะพัฒนาพื้นที่ชุมชนแล้ว ยังต้องการที่จะมุ่งพัฒนาคนในชุมชนด้วย เนื่องจากคนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในเรื่องต่างๆต่อไป คือถ้าคนมีคุณภาพการจะทำอะไรหรือดำเนินการในเรื่องอะไรก็จะเป็นไปอย่างมีแบบแผนและมีคุณภาพ นั่นคือการขับเคลื่อนที่ดี โดยจะดูแลตั้งแต่เด็กซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส เพื่อที่จะดูแลพวกเขาให้มีโอกาสทางการศึกษาและเล่าเรียนได้ต่อเนื่องแทนที่จะไปสุ่มเสี่ยงในเรื่องไม่ดีต่างๆ ก็จะเป็นคนของชุมชนท้องถิ่นที่มีความคิดความอ่านและพร้อมที่จะพัฒนาไปด้วยกัน
 
“เรื่องเหล่านี้อยากให้พื้นที่ชุมชนท้องถิ่นอื่นๆนำไปปรับใช้ เพราะเชื่อว่าไม่ใช่แค่เพียงที่ตำบลนาอ้อเท่านั้นที่จะมีชีวิตดี๊ดีได้ แต่ตำบลหรือพื้นที่ชุมชนอื่นๆก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่รู้จักบริบทพื้นที่ชุมชนของตัวเอง และสิ่งสำคัญเราเป็นท้องถิ่น ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองว่าเราต้องดูแลและให้บริการสาธารณะแก่พี่น้องประชาชน ต้องตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน”
 
“ซึ่งถ้าเราทำตามหน้าที่บทบาทอย่างจริงจังและให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน คือเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาต้องการอย่างแท้จริง และที่สำคัญต้องมีหลักธรรมาภิบาล ซึ่งถ้าทำแบบนี้การจะดำเนินงานอะไรก็จะเกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อจากนี้ก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาตำบลนาอ้อให้เป็นพื้นที่สมาร์ทซิตี้ในการให้บริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งคิดว่าน่าจะทำได้และไม่ยากที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน”
 
     ทั้งนี้ นายกฯก้าน ยังได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตวันสบายๆที่ละเว้นจากการทำงานของเขาว่า ให้ความสำคัญกับชีวิตเป็นอย่างมากเพราะถือได้ว่าสูงวัยแล้ว ดังนั้นจะเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพ คือจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร ให้มีสุขภาพที่ดี คือถ้ารักและเป็นห่วงคนในครอบครัวก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อที่จะไม่ไปเป็นภาระของครอบครัวหรือไม่ทำให้พวกเขาเป็นห่วงที่ต้องมาคอยดูแลเรา 
ดังนั้นการดูแลตัวเองจึงสำคัญทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งการดูแลสุขภาพกายที่นอกจากจะออกกำลังกายแล้ว จะให้ความสำคัญกับการกิน เพราะสมัยนี้โรคภัยต่างๆมักมากับสิ่งที่เรากินเราอยู่ โดยตัวเขาจะปลูกผักทุกอย่างที่สามารถกินได้ คือปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก ซึ่งก็ทำเป็นงานอดิเรกในการปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบริเวณบ้าน 
“เรื่องนี้อยากทำให้เป็นตัวอย่างแก่พี่น้องในชุมชนท้องถิ่นของเราว่าเราสามารถทำแบบนี้ได้ ไม่ต้องทำให้ใหญ่โต ก็ใช้กระถางแปลงเล็กๆต่อเติมเสริมแต่งเอาได้ ก็ปลูกมะเขือ ถั่วฝักยาว เป็นต้น อีกทั้งยังเลี้ยงไส้เดือนในแปลงผักด้วย ก็เป็นปุ๋ยและพรวนดินไปในตัว จนตอนนี้ขยายผลมีชาวบ้านทำตาม และถ้าชาวบ้านปลูกผักกินไม่หมดก็นำมาขายที่บริเวณลานวัฒนธรรมไทยนาอ้อที่เป็นพื้นที่ออกกำลังกายกัน ก็เป็นรายได้เสริมเล็กๆน้อยๆไป เพราะผักของเราจะไม่ใช่สารเคมีกัน ซึ่งว่างๆจากการทำงานก็ทำงานอดิเรกเหล่านี้ จะไม่ได้ไปไหนและไม่ได้มีธุรกิจอะไร เพราะคิดว่าพอตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ นอกจากบุญกุศลและความดีที่เราทำ รวมทั้งว่างๆก็จะศึกษาธรรมมะและทำบุญเพื่อให้จิตใจเราสงบและสบาย” นายกเทศมนตรีตำบลนาอ้อ กล่าวในที่สุด
 
 
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...