ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
สศก.แนะปลูก“เมล่อน”พืชทางเลือกกำไรงาม
09 ม.ค. 2563

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี คือ "เมล่อน" เป็นพืชทางเลือกที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดในอำเภอเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นพืชที่เพาะปลูกง่าย ปลูกได้ตลอดทั้งปี สามารถปลูกได้ทั้งในโรงเรือนและกลางแจ้ง ใช้เครื่องมือทางการเกษตรและน้ำน้อย รวมถึงใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก แต่ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งตลาดที่สำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายของฝาก และขายทางออน์ไลน์

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) โดยสัมภาษณ์ นายอาทิตย์ นิยมวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกเมล่อน สวนกิตติยาฟาร์ม ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 7 ราย พื้นที่เพาะปลูกจำนวน 37 ไร่ พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกเมล่อนพันธุ์กรีนเน็ต พอทออเร้นจ์ และโกลเด้นควีน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 18,000 บาท/รอบ/โรงเรือน เริ่มติดผลเมื่อมีอายุประมาณ 35 – 40 วัน ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 75-80 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1-1.5 ตัน/รอบ/โรงเรือน ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 35,000 บาท/รอบ/โรงเรือน ราคาขายจะแยกตามเกรดของผลผลิต ซึ่งเกรด A ราคาขายอยู่ที่ 60-85 บาท/กก. เกรด B ราคาขายอยู่ที่ 40 บาท/กก.

ส่วนเกรด C ราคาขายอยู่ที่ 25 บาท/กก. ด้านการเพาะปลูก เกษตรกรจะปลูกในโรงเรือนขนาด 5x40 เมตร มีจำนวน 55 โรงเรือน และกำลังขยายเพิ่มอีก 5 โรงเรือน เป็น 60 โรงเรือน สามารถปลูกเมล่อนได้จำนวน 800 ต้น/โรงเรือน มีผลผลิตจำหน่าย 5,000 – 8,000 กิโลกรัม/สัปดาห์ ซึ่งข้อดีของการปลูกในโรงเรือน คือ สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงจากโรคและแมลงได้ ทำให้สามารถลดต้นทุนการใช้สารเคมีและปัจจัยการผลิตอื่นๆ อีกทั้ง ยังลดความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม เช่น น้ำค้าง ฝนตกหนัก และแสงแดดจัด

ทั้งนี้ เมล่อนเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิดแต่ดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกมากที่สุด คือ ดินร่วนปนทรายส่วนสภาพอากาศที่เหมาะสม คือ อากาศอบอุ่น มีแสงแดดเพียงพอและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ นอกจากนี้ การปลูกเมล่อนในฤดูร้อน ผลจะสุกเร็วกว่าในฤดูหนาว เมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่จะเริ่มทำการห่อผล หลังจากห่อผลประมาณ 1 เดือน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนการตัดผลเมล่อน นอกจากตัดขั้วติดมาแล้วยังต้องตัดให้ติดส่วนของกิ่งแขนงย่อยออกมาด้วย โดยให้ติดเป็นรูปตัว T หลังจากเก็บเกี่ยวสามารถเก็บรักษาผลผลิตได้ประมาณ 15 – 20 วัน นอกจากนี้ หากต้องการให้เมล่อนมีความหวานมากขึ้น ควรงดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 5 วัน

ด้านนางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเสริมว่า ในสภาพภูมิประเทศของประเทศไทย การผลิตเมล่อนให้ได้คุณภาพสูงนั้น จำเป็นต้องมีการดูแลเอาใจใส่ในการเพาะปลูกเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด หากพิจารณาถึงด้านการตลาด กลุ่มเกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตให้กับ Tops supermarket ซึ่งมีความต้องการผลผลิต ไม่จำกัด โดยจะส่งผลผลิตให้ประมาณ 5,000 กิโลกรัม/สัปดาห์ และส่งร้านขายของฝากในจังหวัดและต่างจังหวัด อีกทั้ง ยังมีพ่อค้าทั่วไปมารับซื้อผลผลิตถึงพื้นที่อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายปลีกหน้าร้านชื่อ โกดังเมล่อน และทางออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ค ป๋องเมล่อน และ Pum Puangmee โดยได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งการขายออนไลน์จะขายได้ราคาดีกว่าการขายส่ง แต่ปริมาณน้อยกว่า จึงต้องขายควบคู่กันเพื่อกระจายความเสี่ยง (สัดส่วนการขายส่งร้อยละ 50 ส่งพ่อค้าทั่วไป ร้อยละ 20 ขายหน้าร้าน และออนไลน์ร้อยละ 20 และส่งร้านขายของฝากร้อยละ 10 ของผลผลิต)

ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดเมล่อนในจังหวัดกาญจนบุรี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมลzone10@oae.go.th หรือสามารถขอคำปรึกษา นายอาทิตย์ นิยมวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกเมล่อน สวนกิตติยาฟาร์มตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โทร. 08 1019 5674

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...