ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เฉลิมชัย เป็นห่วงภัยแล้ง แนะเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนนาปรัง
12 ม.ค. 2563

รมว.เกษตรฯ วอนเกษตรกรฟังคำแนะนำปลูกพืชใช้น้ำน้อย งดทำนาปรังในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำสนับสนุน ด้าน สศก.คำนวณต้นทุนการผลิตและรายได้จากการปลูกพืชอื่นแทนข้าวแล้งนี้มีกำไรสูงและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ห่วงใยเกษตรกร 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งไปแล้ว 2.25 ล้านไร่ ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าไม่มีแผนการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุน จึงขอให้ผู้ที่คิดจะปลูกข้าวนาปรังหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือทำปศุสัตว์ตามคำแนะนำของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แย่งน้ำภาคการเกษตร อีกทั้งหากต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะอย่างต่อเนื่อง หรือซื้อน้ำเพื่อเลี้ยงต้นข้าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า เมื่อกรมชลประทานไม่มีน้ำส่งให้นาปรังจะมีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายร้อยละ 50 จากพื้นที่ที่ปลูกแล้ว 1.59 ล้านไร่ คิดเป็น 800,000 ไร่ โดยเกษตรกรลงทุนปลูก 5,564 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 4,129 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ปลูกอีก 1.59 ล้านไร่ จะเสียหายร้อยละ 80 คิดเป็น 1.27 ล้านไร่ เกษตรกรลงทุนไปแล้ว 5,658 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 6,662 ล้านบาท จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแทนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้

นายระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2562 ลุ่มเจ้าพระยามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด 7.89 ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกแล้ว 2.25 ล้านไร่ จึงยังคงมีพื้นที่ทำการเกษตรอื่น 5.64 ล้านไร่ โดยสามารถปลูกพืชใช้น้ำน้อยเป็นทางเลือก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีพื้นที่ที่เหมาะสม 3.41 ล้านไร่ โดยโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการการทำนาปรังจัดทำขึ้นปีที่แล้วสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงกว่าการทำนาปรัง เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ไม่เพียงพอใช้ในประเทศ มีต้นทุนการผลิต 4,370 บาท ขายได้ตันละ 7,810 บาท ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 2.23 ล้านไร่ สามารถส่งเสริมปลูกพืชตระกูลถั่วทั้งถั่วเขียวและถั่วลิสงเพิ่มเติมได้ เนื่องจากยังเป็นพืชที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศเช่นกัน

ทั้งนี้ พื้นที่ที่เหลืออีก 1.86 ล้านไร่ เห็นควรให้แต่ละจังหวัดพิจารณาส่งเสริมเกษตรทางเลือกหรือกิจกรรมอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร สำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยสิ้นเชิง จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ในลุ่มเจ้าพระยานี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายกรมชลประทานจัดทำโครงการจ้างแรงงานขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูเพาะปลูกที่จะมาถึง ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูแล้ง โดยกำลังเร่งเตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อเปิดรับสมัครในเร็ววันนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...