ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
หวาดระแวงอิสลามในสังคมไทยจากใต้ขึ้นเหนือ
12 ก.ค. 2559

          มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย จัดเสวนาที่น่าสนใจ เป็นความน่าสนใจ ที่หลายคนในประเทศนี้อาจมองข้ามถึงความสำคัญ นั่นคือ  “ การเกาะกระแส Islamophobia ในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ” โดยคำว่า Islamophobia หมายถึงโรคเกลียดกลัวอิสลาม การเสวนาจัดขึ้นในสถานการณ์ที่คนมุสลิมถูกมองเป็นผู้ร้าย นิยมความรุนแรง และเกี่ยวข้องโดยตรงกับลัทธิก่อการร้าย จนกลายเป็นโรคเกลียดกลัวอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวว่า กระแสเกลียดกลัวอิสลามน่าจะเกิดหลังเหตุการณ์  911 (เหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2001) ภาวะหวาดระแวงมุสลิมก็เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งจังหวัดชายแดนภาคใต้   “ เมื่อเร็วๆ นี้ มีกลุ่มคนขับรถไปสถานที่ก่อสร้างมัสยิดที่จังหวัดมุกดาหาร แล้วสั่งให้คนงานหยุดก่อสร้าง สอบถามเหตุผลก็อ้างว่ามาจากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงก่อสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี ถ้าปัตตานีสร้างพุทธมณฑลไม่ได้ ที่มุกดาหารก็สร้างมัสยิดไม่ได ”

          “ ที่เชียงใหม่ มีการต่อต้านโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และยังมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นใน จ.นครศรีธรรมราช ในเมืองมีสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา คือ วัดพระมหาธาตุฯใกล้ๆ กันมีตลาดแขก ชุมชนตลาดแขกอพยพมาจากรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย บางคนพูดภาษามลายูปะลิสได้ ในวัดพระมหาธาตุฯเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านค้าของพี่น้องมุสลิมไปขาย เช่น เครื่องถมเงิน มีการไปบูรณะร้านค้าต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยว และสร้างซุ้มร้านค้าเป็นลักษณะเหมือนศิลปะของมุสลิม ก็เกิดกระแสต่อต้านจากพระในวัดและผู้เกี่ยวข้อง ”

          ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี จากสถาบันวะสะฏียะฮ์ หนึ่งในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคเกลียดกลัวอิสลามมีความเด่นชัดขึ้นตั้งแต่มีคนมุสลิมอพยพเข้าไปในยุโรปมากขึ้น และตัวเร่งคือเหตุการณ์ 911 ที่ผ่านมามีงานเขียนของนักวิชาการที่พยายามวิเคราะห์สาเหตุของโรคเกลียดกลัวอิสลาม พบว่าส่วนหนึ่งเป็นความพยายามของโลกตะวันตกที่สร้างสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่ออธิบายคนอื่น หนึ่งในนั้นคือสังคมมุสลิม มีความประหลาด ล้าหลัง ไม่ศิวิไลซ์ ไม่อารยะ และมีความน่ากลัว มีอันตรายอยู่ในนั้น คำสอนของอิสลามหลายอย่างถูกมองว่าเอาไปรับใช้ความรุนแรง เช่น คำว่าญิฮาด ถูกตีความว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่คำนี้ เป็นคำที่แปลกประหลาดมากในอิสลาม เพราะอิสลามไม่เคยสอนว่าสงครามคือความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าสงครามนั้นจะมีความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม

          “ ที่เชียงใหม่ ผู้หญิงคลุมฮิญาบขี่มอเตอร์ไซค์ติดไฟแดง มีคนมาจอดรถข้างๆ แล้วด่า ทั้งๆที่ไม่รู้จักกัน ผมเป็นห่วงว่าถ้าสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างนี้ โดยทุกฝ่ายไม่ทำอะไรเลย เกรงว่าอีก 30-40 ปีข้างหน้า จะเกิดปัญหาแบบเมียนมาที่มีการทำร้าย เผา ฆ่ามุสลิม ”  ผศ.ดร.สุชาติ กล่าว

          ขณะที่ อับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ จากปาตานี ฟอรั่ม ซึ่งได้ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องนี้ในทุกภาคของประเทศ บอกว่า ผลการศึกษาแบ่งเป็น 2 มุม และ 2 กลุ่ม คือมีมุมมองที่ดีและไม่ดี กับมุมมทองที่มีต่อมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับมุสลิมทั่วประเทศ  เริ่มจากมุมมองในเชิงบวก ผลการศึกษาพบว่า คนทั่วไปมองว่าคนชายแดนใต้ถูกกดขี่จากรัฐมากพอสมควร จนเกิดกระแสความไม่พอใจ วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ยังพอเห็นได้ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ

          สำหรับเชิงลบ เหตุการณ์ที่ทำให้คนภาคเหนือไม่พอใจคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ ครูจูหลิง (จูงหลิง ปงกันมูล) ทั้งยังเหมารวมว่ามุสลิมชายแดนใต้เป็นพวกหัวรุนแรง ซึ่งด้านบวก วิถีปฏิบัติของมุสลิมเคร่งครัดดี ชื่นชม มีความเหนียวแน่น เป็นปึกแผ่น น่าค้นหา สถาปัตยกรรมสวยงาม โดดเด่น แตกต่างจากศาสนาอื่น ส่วนด้านลบ มองว่าวิถีปฏิบัติของมุสลิมจุกจิก เรื่องมาก ถ้าใช้เวลาร่วมกับมุสลิมจะรู้สึกอึดอัด  มีคำถามว่าทำไมไม่กินหมู ทำไมไม่ไปร่วมงานศพเวลาเพื่อนต่างศาสนิกเสียชีวิต ทำไมมุสลิมบางส่วนต้องปิดหน้า รู้สึกไม่จริงใจ ไม่รู้ว่ายิ้มหรือโกรธ  “ คำถามต่างๆ เหล่านี้ เราเองในฐานะที่เป็นคนมุสลิมเจ้าของศาสนา เราสามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ หรือเปล่า เพราะมีเสียงบอกว่าการอธิบายแต่ละครั้งแข็งทื่อ ฟังแล้วเกร็ง  ” อับดุลเล๊าะ ตั้งคำถาม

          ด้าน แอน อิศดุล ชาวพุทธ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดมีการเสี้ยมกันด้วย โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย มีการจัดตั้ง ทำให้แตกแยก ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ และไม่ใช่ข้อเท็จจริง   “ ยะลาเป็นจังหวัดเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดเหตุการณ์ระหว่างเยาวชนพุทธและมุสลิมออกไปตีกัน ฟันกัน ยิงกัน ด้วยความรู้สึกของการใส่ไฟให้เกิดความเกลียดชัง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่จากความกลัว แต่วันนี้ความกลัวกลายเป็นความเกลียดและอคติ

          “ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องเคลื่อนไหวให้เกิดเวทีพูดคุยกัน ไม่อย่างนั้นไม่รู้ว่าลูกออกจากบ้านไป ตอนกลับมามีรอยดาบบนหลังหรืออยู่โรงพยาบาล เรื่องแบบนี้เป็นเหตุการณ์ซ้อน เป็นความไม่ปลอดภัยที่ซ้อนความรุนแรงอยู่ ยิ่งมีเรื่องไอเอสเข้ามา มี 911 เป็นกระแส วันนี้เริ่มมีกระแสชาตินิยม ไม่เข้าร้านอิสลาม ไม่กินอาหาร ให้เข้าร้านไทยพุทธด้วยกัน กลายเป็นตาต่อตาฟันต่อฟัน น่ากลัวกว่าเอาระเบิดไปวาง ถ้าเราไม่คลี่คลายสถานการณ์นี้ ในอนาคตไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น " ชาวไทยพุทธที่ชายแดนใต้ตั้งคำถามทิ้งท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...