ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
พลตรีผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ดุสิต จันทยานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก
27 ธ.ค. 2566

แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียสละ พร้อมให้ความสำคัญต่อผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ อปท.เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับพลตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ดุสิต จันทยานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก หรือ “หมอดุ”ในวัย 61 ปี  ผู้เป็นทั้งอายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว และริเริ่มการเรียนการสอนแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ หรือแพทย์ที่ดูแลรักษาและหาทางป้องกัน ผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน และโรคจากสิ่งแวดล้อม ที่ได้อุทิศตนเพื่อรักษาผู้ป่วยมาแล้วมากมาย

โดยคุณหมอดุสิต ได้เล่าว่า คุณหมอเป็นชาวอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง คุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ตัวเองยังเล็ก คุณแม่ซึ่งเดิมพื้นเพเป็นชาวนาและต่อมาต้องมาเป็นแม่ค้ารับช่วงกิจการของพ่อซึ่งขายสารพัดอย่างอยู่ในตลาดศาลเจ้าโรงทองชุมชนค้าขายเก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย เป็นผู้อบรมเลี้ยงดูให้อยู่ในศีลธรรม เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง

ซึ่งตอนเด็กเป็นเด็กซุกซนแต่เรียนเก่ง เมื่อโตมาจึงมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นเลิศในยุคนั้น และด้วยความที่อยากเป็นทั้งแพทย์และทหาร จึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยสามารถจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จึงมีความภาคภูมิใจในชีวิตเป็นอย่างมาก บทเรียนชีวิตแรกๆ คือความสนุกสนานในการเรียนรู้ ความอยากรู้อยากเห็นจะชักนำให้เราขยันอ่านหนังสือ ค้นคว้าทดลองจนได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ ซึ่งทำให้ย้อนคิดว่าถ้าเมืองไทยมีระบบการศึกษาที่ดีกว่านี้ ให้โอกาสนักเรียนได้ซักถามแสดงความเห็น ทดลองทำด้วยมือ คงจะดีไม่น้อย

“เมื่อจบการศึกษาแล้วจึงทำตามความฝัน ที่ชอบชีวิตผจญภัย ต่อสู้ และได้สมัครไปรับราชการเป็นทหารพลร่มป่าหวายค่ายวชิราลงกรณ์ จังหวัดลพบุรี เพื่อฝึกวิชาทหารรบพิเศษ ทั้งโดดร่มและจู่โจมจนได้อันดับที่1แล้วขอสมัครไปปฏิบัติราชการที่ชายแดนด้านกัมพูชาดูแลพื้นที่ตั้งแต่อุบลราชธานี ปราจีนบุรี จันทบุรี เพื่อรบกับอริราชศัตรูของไทยในช่วงนั้นคือกองกำลังเขมรแดง ต้องเสี่ยงภยันตราย”

“บางทีมีการรบปะทะกับข้าศึก สามารถช่วยชีวิตกำลังพลที่ขาขาดจากกับระเบิดและไข้มาลาเรียได้เป็นจำนวนมาก ทำขาเทียมชั่วคราวจากวัสดุท้องถิ่นถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตแพทย์ทหาร เมื่อจบภารกิจที่ตั้งใจ จึงมาเรียนต่อ เป็นผู้เชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไปเพราะมีความฝันอยากเป็นอายุรแพทย์ทางเดินอาหารตามแบบอย่างปรมาจารย์จากศิริราช ศ.นพ.วีกิจ วีรานุวัตต์”พลตรี ผศ.นพ.ดุสิต บอกด้วยน้ำเสียงภาคภูมิ

คุณหมอดุสิต เล่าต่อว่า หลังจากจบแล้วได้รับการทาบทามไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายรามราชนิเวศน์ วังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ได้ริเริ่มออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหลายครั้ง เห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญได้ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนจนได้รับศรัทธาจากชาวบ้านมาบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์และสร้างห้องตรวจโรคในโรงพยาบาล สร้างห้องปฏิบัติการ สร้างห้องพิเศษ ระดมเงินบริจาคและเครื่องมือรวมมูลค่านับล้านบาท สะท้อนให้เห็นน้ำใจและศรัทธาของชาวเพชรบุรีในสมัยนั้น ปัจจุบัน รพ.ค่ายรามฯ ยังทำงานดูแลผู้ป่วยในพื้นที่อย่างดียิ่ง

 ก่อนที่ต่อมาจะได้รับทาบทามมาเป็นอาจารย์แพทย์ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดลทำให้ได้เล็งเห็นปัญหาการบริการการแพทย์ของไทยที่มีราคาแพง ประชาชนเดือดร้อนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ด้วยเหตุนี้ จึงได้ร่วมมือกับอาจารย์แพทย์ที่มีแนวคิดตรงกัน นำศาสตร์การแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine )มาสอน เผยแพร่และจัดการสอบผู้เชี่ยวชาญได้กว่า6พันคนและก่อตั้งหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวปีละ6คน และก่อตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่5ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพื่อปูพื้นฐานการเป็นแพทย์ที่ดีมีหัวใจความเป็นมนุษย์ จากการพัฒนาคุณภาพบริการผู้ป่วยนอก จนทำให้โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้รางวัลจากสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นครั้งแรก นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่ง ที่สำคัญคือได้แนวคิดการพัฒนาแบบ one stop service ขึ้น

  นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์บริหารงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อดูแลกำลังพลและครอบครัวกว่า 4 พันคน ริเริ่มโครงการตรวจสุขภาพประจำปี โครงการออกกำลังกาย สร้างห้องออกกำลังกาย สร้างห้องสมุดของเล่นให้เยาวชนโครงการเลิกบุหรี่ เลิกเหล้า ฟังธรรม ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชุมชนมีความสุข มีความเข้มแข็ง มีความรักสามัคคีต่อกัน ได้ทำโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและพัฒนามาเป็นห้องปฏิบัติธรรมชื่อ อกาลิโกสถาน อยู่ที่ชั้น 20 อาคารเฉลิมพระเกียรติ6รอบพระชนมพรรษาเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติ เป็นที่ทำบุญ ถวายภัตตาหาร ถวายสังฆทาน เจริญภาวนา สนทนาธรรมและนิมนต์พระไปแสดงธรรมเทศนาข้างเตียงแก่ผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 ซึ่งภารกิจลักษณะนี้ ก็เคยทำในสมัยที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีทหารบาดเจ็บและพิการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านับร้อยคนต่อเดือน จึงได้ริเริ่มงานบำรุงขวัญให้ทหารหาญโดยร่วมกับคณะเพื่อนบริษัทเอกชน นำดนตรีมาเล่น เลี้ยงอาหาร และพาไปเที่ยวนอกสถานที่ทุกเดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ โดยทำมาตลอด9ปี ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะทำให้ขวัญของทหารพิการดีขึ้น ยังทำให้เขารับรู้ว่าสังคมยังเห็นคุณค่าของทหารและเห็นใจยินดีช่วยเหลือให้กำลังใจ

ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา คุณหมอและคณะได้ตั้งห้องตรวจผู้ป่วยนอกเวชศาสตร์ครอบครัว ที่ชั้น1อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ รองรับผู้ป่วยได้ 300 คนต่อวัน ระหว่างนั้นพบว่าพลทหารใหม่เมื่อรับการเกณฑ์เข้ามาก็มาฝึกฝนวิชาทหารเป็นเวลา 10 สัปดาห์ มีอาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากโรคลมร้อน จึงค้นคว้าหาวิธีป้องกันใช้เวลากว่า8ปี จนสามารถวางระบบป้องกันการบาดเจ็บจากความร้อนในการฝึกทหารใหม่ จนไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในช่วง3 ปี (2557-2560) และเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้วงการแพทย์ในประเทศไทยนำไปใช้ประโยชน์ บทเรียนคือ การทำงานแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องร่วมแรงร่วมใจ ใช้ความรู้ความสามารถ การวิจัยและทดลองปรับเปลี่ยนประยุกต์จนประสบความสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้รับคำสั่งให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงคิดวิธีการศึกษา ทั้งบรรยาย ดูงาน นำนายทหารนักเรียนเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่จังหวัดอยุธยา และพาไปดูงานที่ออสเตรเลียเกี่ยวกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชนบท แล้วนำความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์

อีกทั้งยังได้โอกาสจากมติ ครม .ให้เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่60 สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ได้เขียนบทความการแพทย์ในอนาคต และนำเสนอนายกรัฐมนตรีบนเวทีนำเสนอยุทธศาสตร์ชาติและทำงานวิจัยยุทธศาสตร์เรื่องความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ประเทศไทยมีอุบัติเหตุน้อยลง

เมื่อได้โอกาสจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่1ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานรุ่น นำนักศึกษาเรียนรู้หลักสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ระดับชาติ ศึกษาปัญหาท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ ปัญหาเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะได้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในการส่งเสริม พิทักษ์ ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป

ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมงานต้านภัยโควิด-19 จัดหาแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย อาหาร ข้าวสาร สิ่งของที่จำเป็นและ อุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญและ สร้างห้องไอซียูแรงดันลบใหม่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มากมายในช่วงนั้น จนประเทศไทยรับมือและผ่านพ้นวิกฤติไปได้แม้จะมีความสูญเสียจำนวนหนึ่ง

เมื่อได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษากองออร์โธปิดิกส์ หรือหมอกระดูก เพื่อช่วยงานก่อสร้างศูนย์ฝึกผ่าตัดอาจารย์ใหญ่แบบศพนิ่ม และหาอุปกรณ์ให้แผนกแขนขาเทียม กองและภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และหาเครื่องมือแพทย์ให้หน่วยโรคปอด กองอายุรกรรม จัดหาเครื่องมือแพทย์ให้กองจักษุกรรม สร้างห้องประชุมร่วมใจและห้องพักผ่อนและห้องอาหารมูลค่ากว่าหนึ่งล้านบาทให้กองตรวจโรคผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องใช้งบสนับสนุนของราชการเลย

จากอุทิศการทำงานเพื่อสังคมมายาวนาน ทำให้มีความคิดริเริ่ม แต่อาจต้องเจอปัญหาหลายอย่างมากมาย ให้คิดว่าทุกปัญหามีทางออก มีผู้คนจิตใจงดงามมากมายในสังคมไทยที่จะหยิบยื่น อย่าท้อแท้เสียใจเมื่อถูกปฏิเสธ มุ่งมั่นทำงานจนผลงานพูดแทนเรา ซึ่งทางคุณหมอดุสิต ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“การเสียสละ ทุ่มเท อุทิศตน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยตลอดมา มีหลักคิดดังนี้ ในทุกภารกิจ จะมีปัญหา เราต้องตั้งคำถามและศึกษาค้นคว้าหาคำตอบทุกวิธีทาง ทั้งเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ ค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต อ่านวารสารวิชาการ ตำราที่เกี่ยวข้อง คุยกับผู้รู้ ศึกษาดูงานจนเข้าใจถ่องแท้แล้วคิดค้นวิธีการใหม่เพื่อแก้ปัญหา ทดลองแบบจำลอง ทำงานตลอดเวลา มุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อประโยชน์สุขของประเทศไทย นับเป็นหลักการในการดำรงชีวิต คือ เรียนรู้ให้มากที่สุดให้เก่งที่สุด ทำงานให้เต็มที่ รักชาติบ้านเมือง เป็นแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ เสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย สร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อคนรุ่นหลัง สร้างสังคมน่าอยู่ให้กับประเทศไทยสืบไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...