ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ผลักดันการปลูกบุกแบบไม่รุกป่า
17 พ.ค. 2564

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) เปิดข้อมูลว่า บุกเนื้อทราย (บุกไข่) เป็นพืชท้องถิ่นและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมยและแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2563 รวมไม่น้อยกว่า 40.54 ล้านบาท ประมาณการผลผลิตเฉลี่ยรวม 527 ตันต่อปี ทั้งนี้ปริมาณความต้องการใช้ผงบุกในตลาดโลก 30,000-40,000 ตันต่อปี และปริมาณความต้องการใช้หัวบุกสดในประเทศมากกว่า 12,000 ตันต่อปี แต่ประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 5,000 ตันต่อปี (ชาลีดา,2559) ซึ่งเห็นได้ว่าบุกเนื้อทรายเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น

 สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของบุกเนื้อทราย โดยขึ้นเจริญได้ดีในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีน้ำท่วมขัง ไม่ชอบแดดจัด สามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นได้ ไม่ว่าจะปลูกแซมตามป่าธรรมชาติ ปลูกแซมในสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือปลูกเป็นพืชร่วมในระบบวนเกษตร เป็นต้น และสามารถปลูกได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี เหมาะเป็นพืชทางเลือกเศรษฐกิจสำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลและใกล้ชิดกับพื้นที่ป่า โดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกบุก ในขณะเดียวกันไม่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว แต่กลับทำให้มีพื้นที่ป่า/พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ “คนบนพื้นที่สูงอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล สมดุล มั่นคง และยั่งยืน”

แต่ทั้งนี้บุกเป็นพืชที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการนำไปใช้ประโยชน์ของกฎหมาย (ของป่า) จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูก โดยการกําหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจน (จับพิกัดจัดทำแผนที่รายแปลง) และมีระบบการควบคุมที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ (กำหนดกฎระเบียบร่วมกับชุมชนในการจัดระบบการปลูก) การจัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกบุกในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมป่าไม้ การรวมกลุ่ม/จัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตหรือแปรรูปผลผลิตบุกในพื้นที่ รวมถึงการจัดการผลผลิตและการตลาด ภายใต้การทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในลักษณะการบูรณาการ เพื่อยกระดับจากพืชป่า (พืชท้องถิ่น) มาเป็นพืชปลูก (พืชเศรษฐกิจ) ที่สร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...