ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
“TCEB”ขานรับครม.เร่งปั้นคนไมซ์โตตามแผนASEAN MRA–TP ไทยผลิตมืออาชีพ“อีเวนต์-อินเซนทีฟ”
18 ก.ค. 2564

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB”  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเรื่อง “พิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: ASEAN MRA – TP)  ล่าสุดได้เพิ่มตำแหน่งงานบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอีก 2 สาขา คือ 1.สาขาไมซ์ : MICE Professionals และ 2.สาขาการจัดกิจกรรม :Event Professionals  สอดคล้องตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนเดิมซึ่งมีเพียง 2 สาขา คือ สาขาที่พัก : Hotel Services และสาขาการเดินทาง : Travel Services)

จากนี้เป็นต้นไปทุกประเทศสมาชิกจะได้นำนโยบายไปปฏิบัติใช้ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งอาเซียน ตามข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน หรือ “ASEAN MRA – TP” โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบด้านการพัฒนาความสามารถตำแหน่งงาน (Competency) ให้บุคลากรอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า พร้อมจะเคลื่อนแรงงานเดินทางหมุนเวียนทำงานในอาเซียนเพิ่ม 2 ด้าน ได้แก่ 1.บุคลากรด้านงานอีเวนต์ (Event) 2.บุคลากรด้านการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive)

ส่วนอินโดนีเซียขอเป็นเจ้าภาพพัฒนาความสามารถตำแหน่งงาน 2 ด้านเช่นกัน คือ 1.การจัดประชุม (Convention) และ 2.งานแสดงสินค้า (Exhibition)

นายจิรุตถ์กล่าวว่า ทีเส็บเป็นองค์กรพร้อมจะทำหน้าที่ให้ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรเอื้อให้เกิดการทำงานด้วยกันอย่างสะดวก คล่องตัว สร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งอาเซียน อีกทั้งโครงการนี้จะส่งผลดีต่อเนื่องถึงเรื่องเปิดเสรีการค้าและบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงจะร่วมผลักดันอาเซียนขึ้นเป็นผู้นำไมซ์ในระดับโลกต่อไป

สำหรับหน่วยงานผู้แทนประเทศไทยที่ร่วมดำเนินงานตามข้อตกลง ร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน : ASEAN MRA – TP”  ประกอบด้วย กรมการท่องเที่ยวทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก ซึ่งกำลังเพิ่มทีเส็บเข้าเป็นหนึ่งในหน่วยงานองค์ประกอบคณะกรรมการรับรองระดับชาติ หรือ National Tourism Professionals Board (NTPB) เพื่อขยายขอบเขตการรับรองมาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว สาขา MICE และ Event Professionals อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต บทบาทของทีเส็บขณะนี้เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ โดยจะทำหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาบุคลากร สาขา Event Professionals อย่างเข้มแข็งควบคู่กันไปด้วย

ทางด้าน “นางศุภวรรณ ตีระรัตน์” รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” กล่าวว่า ทีเส็บพร้อมทีมงานร่วมกันทำช่วงครึ่งปีหลักเร่งเดินหน้า 2 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการที่ 1 “พัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ” ในอุตสาหกรรมไมซ์ประกอบไปด้วย การจัดงานประชุม แสดงสินค้า อีเวนต์ การบริหารสถานที่จัดงานหรือ Venue Management แม้กระทั่งการประชุมองค์กรทั่ว ๆ ไป เพราะทั้งหมดเป็น “วิชาชีพ” ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างให้ความสนใจ ประเทศไทยโดยทีเส็บจึงร่วมกับ “สถาบันวิชาชีพ” (องค์การมหาชน) นำอาชีพต่าง ๆ มาสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มสมรรถนะขานรับข้อตกลงของไทยกับสมาชิกอาเซียนเมื่อ 10 ปีก่อน ระบุไว้ชัดเจนว่าคนสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานใน 10 ประเทศได้อย่างกว้างขวาง ทีเส็บจึงมองหาช่องทางสร้างโอกาสให้คนไทยในอุตสาหกรรมไมซ์ไปทำงานประเทศอื่นได้ด้วย

แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาอุปสรรคเรื่อง “การจ้างงาน” จึงต้องร่วมมือกับสมาคมเกี่ยวข้อง เช่น สมาคมจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) :TICA สมาคมจัดแสดงสินค้า :TEA สมาคมโรงแรมไทย : THA สมาคมจัดอีเวนต์หรือสมาคมจัดเทศกาล ร่วมพูดคุยกันถึง “มาตรฐาน” หรือตัวชี้วัดสากล เนื่องจากปัจจุบันเมื่อจ้างคนเข้ามาทำงานไม่นานก็ต้องให้พ้นตำแหน่งออกไป เพราะปฏิบัติงานไม่ได้ตามเกณฑ์ หรืออายุงานของพนักงานบางคนอยู่ในตำแหน่งยาวเกินไปไม่สามารถขยับไปแผนกอื่นได้

ทีเส็บหันจึงได้ร่วมกับสถาบันวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จับมือกันสร้าง “มาตรฐานหลักสูตรวิชาชีพ” โดยมีมาตรฐานวัดประเมินและสอบอย่างเป็นแบบแผนปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ “พนักงาน” เลือกใช้การสอบเป็นเกณฑ์ ส่วน “นายจ้าง” ก็สามารถประเมินขยับตำแหน่งพนักงานได้ ขณะนี้จึงได้เริ่มนำร่องแจ้งเกิดคุณวิชาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมไมซ์เริ่มต้น 5 สาขา ประกอบด้วย

 

สาขาที่ 1 อาชีพจัดงานการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรือ “Incentive” ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนทำอาชีพนี้อยู่จำนวนมาก พื้นฐานมาจากบริษัทจัดนำเที่ยวต้องการยกระดับขยายตลาดมาสู่บริการธุรกิจอื่นด้วย แม้แต่องค์กรเอกชนเองก็ต้องการจ้างบริษัทจัดนำเที่ยวทำโปรแกรมให้รางวัลพนักงานเพื่อเดินทางการท่องเที่ยวแทนโบนัสเพิ่มมากขึ้น

 

สาขาที่ 2 อาชีพการจัดประชุม ทุกวันนี้เนื้อหาการประชุมแต่ละงานมีสิ่งที่แตกต่างจากงานทั่วไป

 

สาขาที่ 3 อาชีพการแสดงสินค้า ซึ่งแต่ละงานกว่าจะจัดได้ ต้องมีระบบนิเวศน์ และผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมกันทำงาน

 

สาขาที่ 4 อาชีพการจัดงานอีเวนต์ ทุกวันนี้การเปิดตัวแสดงสินค้า หรือจัดแต่งงานก็อยู่ในหมวดอีเวนต์ซึ่งตลาดเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

สาขาที่ 5 อาชีพบริหารจัดการสถานที่จัดงาน มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเทรนด์การเติบโตสูงขึ้นทั้งในประเทศและสมาชิกอาเซียน

 

นางศุภวรรณกล่าวว่ามาตรฐานทั้ง 5 อาชีพใหม่ มีระดับงานต่างกัน อาจเริ่มจาก ตำแหน่ง “ผู้ประสานงาน” ขยับเป็น “ผู้จัดการ” ก้าวสู่ตำแหน่ง “ผู้บริหารหรือผู้อำนวยการ” เปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความสามารถพัฒนาตนเองเติบโตในอาชีพอย่างมั่นคงได้

ขั้นตอนปัจจุบันนี้การพัฒนาทั้ง 5 อาชีพ ยังอยู่ “ระดับในประเทศ” ซึ่งมี “หลักสูตร” กับ “ข้อการประเมิน” เรียบร้อยแล้ว แต่ยังขาดเรื่อง “การผลิต” หรือ “คนที่จะมาประเมิน” คุณสมบัติหลัก ๆ ควรต้องเป็นผู้ประกอบการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์หรืออายุงานพอสมควร ทางทีเส็บจะได้เชิญผู้ประเมินมาคุมสอบ สัมภาษณ์บุคลากรแต่ละอาชีพโดยตรง เมื่อสอบและฝึกอบรมแล้วจะทำให้แต่ละหน่วยงานรู้ถึงความสามารถของบุคลากรที่หน่วยงานต้องการจริง จ้างงานกันได้ในระยะยาวต่อไป

ขั้นตอนต่อไปจะขยับไปสู่ “ระดับอาเซียน” หลังจากทีเส็บบุกเบิกทำโครงการ “มาตรฐานสถานประกอบการ หรือ “Thailand  MICE Venue Standard :TMVS” แล้วยกระดับขึ้นเป็น “ASEAN MICE Venue Standard : AMVS” จนประเทศไทยได้รับเครดิตที่ดีมาก จึงเห็นโอกาสจะต่อยอดทำโครงการ “สมรรถนะวิชาชีพไมซ์” เพิ่มทั้ง 2 ประเภท คือ 1.Event Professional ความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารอีเวนต์ 2.Incentive การบริหารจัดการเพื่อเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญแห่งเทรนด์อนาคต

เพราะทั้งภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย แปซิฟิก ตอนนี้ต่างก็เน้นจุดขายปลายทางเรื่องเมืองท่องเที่ยว ดังนั้นแทนที่ไทยจะไปแข่งกันขายแต่เฉพาะเรื่องเมืองท่องเที่ยว ทีเส็บก็หันมาจับประเด็นเรื่อง “การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรือ Incentive Travel” แทน เพราะองค์กรต่าง ๆ ต้องการให้รางวัลพนักงานแทนการจ่ายโบนัส แนวโน้มเทรนด์ธุรกิจจะเติบโตดีต่อเนื่องโดยเปลี่ยนไปสู่การให้ “ทริปเดินทางสร้างความประทับใจ” มากขึ้น

ปัจจุบันทั้งอาเซียนเห็นด้วยกับการสร้าง “สมรรถนะคุณอาชีพ” โดยมีประเทศไทยเป็นต้นแบบ ช่วงปี 2564 ทีเส็บได้ทดลองทำอีเวนต์โปรเฟสชั่นแนลและอินเซนทีฟบ้างแล้ว กระทั่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเข้าที่ประชุมโดยมีทีเส็บให้ข้อมูลรายละเอียด เพื่อขอการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กว่า 500 เสียง เห็นความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว พร้อมใจกันยกมือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นผลดีต่อการพัฒนาบุคลากรไมซ์ของไทยและสมาชิกอาเซียนในอนาคตที่จะร่วมมือกันนำภูมิภาคขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไมซ์ระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน

โครงการที่ 2 “Re Opening : ยกเครื่องกิจกรรมใหม่ทั้งหมด” ใน 10 เมืองไมซ์ เตรียมต้อนรับการเปิดประเทศอีก 120 วันข้างหน้า โดยจะเริ่มจากสเกลขนาดเล็ก หรือเมืองที่มีความเสี่ยงน้อย ขยายไปจนเปิดได้ภายใน 120 วัน พร้อมกับนำโมเดลภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมไมซ์พื้นที่อื่น ๆ ซึ่งน่าจะทำได้ปลายปีช่วงฤดูเดินทางไฮซีซัน เริ่มตั้งแต่กันยาย-ธันวาคม 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 เพราะตอนนี้มีงานไมซ์จองคิวพร้อมจัดรออยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ต้องรอฟังประกาศเปิดเมืองอีกครั้ง ก็สามารถเดินหน้าจัดได้ทันที ทั้งงานประชุมบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate meeting) และการให้รางวัลพนักงานเดินทางฟรี (incentive) จากตลาดต่างประเทศ ที่จะทยอยเข้ามาภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขเน้นมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดทุก ๆ งาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...