ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
พาณิชย์ชื่นมื่นตลาดนัดข้าวเปลือกช่วยเหลือชาวนา
01 มี.ค. 2560

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากตลอดจน เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือก โดยเฉพาะในเรื่องของราคา การชั่งน้ำหนัก วัดความชื้นและหักสิ่งเจือปน ประกอบกับบางพื้นที่แหล่งผลิตผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกมีจำนวนน้อย เกษตรกรจึงถูกเอารัดเอาเปรียบในการขายข้าว กระทรวงพาณิชย์จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกด้วยการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2559/60 ขึ้น โดยจัดหาผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกเข้าไปรับซื้อในพื้นที่ และกำหนดช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากหรือราคา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกตลาดการรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกร มีการแข่งขัน เกษตรกรมีช่องทางเลือกและมีอำนาจต่อรองในการขายข้าวเปลือก รวมทั้งเป็นแหล่งกลางในการซื้อขายข้าวเปลือกที่ให้ความเป็นธรรม มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานทางด้านราคา การชั่งน้ำหนัก และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ในขั้นตอนการรับซื้อรวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้าใจระบบการซื้อขายในตลาดและคุณภาพข้าวเปลือก อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตข้าวเปลือกให้มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของตลาด

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในปีการผลิต 2559/60 นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกำหนดแผนให้จัดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในพื้นที่ 53 จังหวัด จำนวน 136 ครั้ง โดยมีการประชาสัมพันธ์ช่วงเวลาในการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกเพื่อ ให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวสามารถนำข้าวเปลือกมาจำหน่ายในพื้นที่ที่จัดตลาดนัดดังกล่าว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกแล้ว จำนวน 98 ครั้ง ใน 41 จังหวัด เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำหน่ายในตลาดนัด จำนวน 19,808 ราย ผู้ประกอบการเข้าร่วมรับซื้อข้าวเปลือกในตลาดนัด จำนวน 273 ราย สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปตันละ 100 – 1,200 บาท โดยมีปริมาณรับซื้อ 56,704.551 ตัน มูลค่า 471.779 ล้านบาท

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้ยกตัวอย่างการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกที่จังหวัดสุพรรณบุรีว่าที่ผ่านมาจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกไปแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ในพื้นที่อำเภอเมือง สามชุก และดอนเจดีย์ ในช่วงระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน – ต้นเดือนธันวาคม 2559 มีผู้ประกอบการรับซื้อ จำนวน 12 ราย เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำหน่าย จำนวน 744 ราย ปริมาณผลผลิตรวม 4,614.980 ตัน มูลค่าการจำหน่าย 29,762,230.25 บาท โดยข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายในตลาดนัด ได้แก่ (1) ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 18 – 30 % จำหน่ายได้ตันละ 6,000 – 7,100 บาท สูงกว่าตลาดทั่วไปตันละ 200 – 300 บาท (2) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ความชื้น 19 – 30 % จำหน่ายได้ตันละ 6,000 – 7,400 บาท   สูงกว่าตลาดทั่วไปตันละ 100 – 400 บาท และ (3) ข้าวหอมจังหวัด ความชื้น 21 – 30 % จำหน่ายได้ตันละ 6,800 – 9,100 บาท สูงกว่าตลาดทั่วไป ตันละ 100 – 300 บาท ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้จะเป็นไปตามคุณภาพความชื้นและสิ่งเจือปน สำหรับผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม 2560 นี้ จังหวัดสุพรรณบุรีจะได้กำหนดการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรต่อไป ทั้งนี้หากเกษตรกรพบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือก              การวัดความชื้น ขอให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ต่อไป

          นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังได้เชื่อมโยงการขายข้าวของชาวนา โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดประสานจัดหาสถานที่จำหน่ายให้แก่ชาวนาใน 47 จังหวัด รวม 341 แห่ง มีชาวนาเข้าร่วมขายข้าว 2,299 ราย   และกลุ่มชาวนา 330 กลุ่ม มีปริมาณการขายข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านกิโลกรัม มูลค่าประมาณ 220 ล้านบาท แยกได้ดังนี้ (1) ข้าวหอมมะลิ ประมาณ 8 ล้านกิโลกรัม มูลค่าประมาณ 170 ล้านบาท และ (2) ข้าวชนิดอื่นๆ ประมาณ 3.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท รวมทั้งได้จัดกิจกรรม โชห่วยช่วยชาวนา” โดยมีร้านค้าส่งร่วมดำเนินการ 76 ราย ร้านค้าปลีกเครือข่าย 352 สาขา ใน 44 จังหวัด ได้เปิดพื้นที่ให้ขายข้าว

          การจัดโครงการตลาดนัดข้าวเปลือก โครงการเชื่อมโยงการขายข้าวของชาวนา และโครงการโชห่วยช่วยชาวนา นั้น เป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งหวังที่จะช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางการระบายผลผลิตออกสู่ตลาดได้เพิ่มมากขึ้น ในราคาที่สูงกว่าการขายในรูปแบบปกติทั่วไป ซึ่งผลที่ได้จากการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยกระทรวงพาณิชย์จะได้มีการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...