ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมสุขภาพจิตชวนวัยรุ่น ฉลาดรัก รู้จักป้องกัน แนะ 3 ส. Safe Sex
19 พ.ย. 2558

         นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ว่า เป็นปัญหาสำคัญของทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดย องค์การสหประชาชาติได้กำหนดนโยบายให้การลดอัตราเกิดมีชีพโดยมารดาอายุ 15 – 19 ปี (Adolescent birth rate) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Developmental Goals, MDGs) สำหรับประเทศไทย จากสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี พ.ศ.2555 มีจำนวนการคลอดทั้งหมด 801,737 ราย โดยจำนวน 129,451 ราย เป็นการคลอดที่เกิดจากวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 15 – 19 ปี นั่นคือ ราวร้อยละ 16 ของการคลอดในปัจจุบันเป็นการคลอดที่เกิดจากแม่วัยรุ่น เฉลี่ยวันละ 355 ราย และ จากข้อมูลทางสถิติในประเทศไทย  ก็ยังพบว่า อายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่น คือ 13 - 15 ปี  

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่เกิดจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีมากมาย เช่น การเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์สูงกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป เกิดภาวะซีดในขณะตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยง HIV/AIDs และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะตกเลือดหลังคลอด ภาวะป่วยทางจิตในมารดาหลังคลอด เกิดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและเป็นการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของแม่วัยรุ่น รวมทั้ง พบภาวะบกพร่องทางด้านสติปัญญาของทารก ตลอดจน พบว่า แม่วัยรุ่น มีโอกาสสูงที่จะเรียนไม่จบ ร้อยละ 30และ ต้องอยู่ในสภาพ“เด็กเลี้ยงเด็ก” เป็นแม่ขณะไม่พร้อม มีวุฒิภาวะน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านสังคมจิตใจตามมา การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงเป็นประเด็นที่ต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย ตั้งแต่การรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของการป้องกันปัญหาจากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการเรียนการสอนในการเพิ่มทักษะชีวิตและเพศศึกษาแบบรอบด้าน เพื่อให้วัยรุ่นมีทักษะในการสื่อสาร ทักษะการปฏิเสธ และเพื่อให้วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ

          ด้าน แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไม่ได้เกิดจาก “การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย หรือรักตามใจจนไร้ขอบเขต หรือขาดการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม” เพียงประเด็นเดียว แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่า วัยรุ่นที่ถูกชักจูงให้มีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายมักจะมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ขาดความนับถือตนเอง และขาดทักษะชีวิต ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงและ ขาดความยับยั้งชั่งใจ การป้องกันจึงสามารถทำได้โดย 1.การปลูกฝังค่านิยมในเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง เช่น เพศชายต้องให้เกียรติ และไม่ล่วงละเมิดทางเพศฝ่ายหญิง รู้จักอดทนรอคอย ส่วนเพศหญิง ก็ต้องรู้จักวางตัว และ “รักนวลสงวนตัว” เป็นต้น 2.การสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของวัยรุ่น  3.การสร้างทักษะชีวิต ใช้“เทคนิคการปฏิเสธเมื่อยามจำเป็น”และ 4.การตระหนักรู้ที่จะป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเรียนรู้วิธีการสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม “เรื่องเพศ” เป็นเรื่องสำคัญของวัยรุ่นที่จะเป็นจะต้องมีการพูดคุย สนทนาให้ความรู้ ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้แสดงออกความคิดเห็น วิจารณ์ข้อดีและข้อเสีย โดยที่ผู้ใหญ่ควรรับฟังอย่างเข้าใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจ และให้ “ทางเลือก” เสมอ 

          สำหรับวัยรุ่นหากเกิดความรู้สึกทางเพศแล้วควรจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยนั้น พญ.มธุรดา ได้แนะ 3 ส. เป็นทางออกให้ ได้แก่ ส.สวรรค์ หมายถึง ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องปกติ สามารถสำเร็จความใคร่ได้ด้วยตนเอง ส.สร้างสรรค์ หมายถึง การทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์แทน เช่น  ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นเน็ต แชทกับเพื่อน ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ และ ส.สัมพันธ์ลึกซึ้ง หมายถึง ถ้าหากจะมีเพศสัมพันธ์จริงๆ ต้องใช้ถุงยางอนามัยเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะมีเพศสัมพันธ์ หรือ มีเซ็กส์ ได้นั้น ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ ได้ย้ำว่า จะมีได้เมื่อ  1.มีเซ็กส์ เมื่อพร้อม หมายถึง มีวุฒิภาวะ สามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตัวเอง เป็นรักแท้รักเดียวใจเดียว และมีความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองได้แล้ว เช่น มีอาชีพและรายได้เป็นของตนเอง ตลอดจนครอบครัวของแต่ละฝ่ายให้การยอมรับ และ 2.มีเซ็กส์เมื่อแต่งงาน ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและวัยรุ่นตลอดจนผู้สนใจ สามารถรับชม Animations ฉลาดรัก รู้จักเลือก และ แม่วัยรุ่น ที่จะให้สาระความรู้และข้อแนะนำดีๆ เรื่องเพศและการป้องกัน ได้ที่www.smartteen.net และ www.facebook.com/lovesayplay

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...