ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมประมงเตือน เฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในฤดูฝน ลดสูญเสีย
27 พ.ค. 2566

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน โดยในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ความเค็ม และความขุ่น ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ เสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย และอาจตายได้อย่างฉับพลัน กรมประมงจึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เฝ้าระวัง และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

1. วางแผนการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล เพื่อให้สามารถจับจำหน่ายได้ก่อนช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝนถึงฤดูหนาว หรือฤดูน้ำหลาก และเตรียมกั้นตาข่ายกันสัตว์น้ำหนี
2. ควรเลือกลูกพันธุ์สัตว์น้ำจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ สัตว์น้ำแข็งแรง ไม่มีบาดแผลหรือแสดงอาการของโรคสัตว์น้ำ
3. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นที่เหมาะสมหรือน้อยกว่าปกติ เพื่อลดความสูญเสียจากคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
4. เลือกใช้อาหารที่มีคุณภาพดี และให้ในปริมาณที่เหมาะสม เสริมสารอาหารหรือวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม เป็นต้น
5. วางแผนจัดการคุณภาพน้ำที่ดี ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น หากสภาพอาการปิดและมีฝนตก ปริมาณออกซิเจนในน้ำจะลดลงอย่างฉับพลัน เกษตรกรสามารถป้องกันการตายของสัตว์น้ำโดยการเปิดเครื่องตีน้ำหรือสูบน้ำในบ่อให้สัมผัสอากาศ จะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้ เป็นต้น
6. ควรตรวจสอบเรื่องปริมาณอาหารที่เหลือ เนื่องจากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงสัตว์น้ำกินอาหารลดลง อาหารที่เหลือสะสมก้นบ่อจะทำให้สารอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรค ควรทำความสะอาดพื้นบ่อ หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ
7. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่สัตว์น้ำเกิดการป่วยหรือตายควรกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำที่ป่วยหรือตายไว้ในบริเวณบ่อเลี้ยงหรือกระชัง หรือเอาให้สัตว์น้ำอื่นกินเพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้เกิดการระบาดของโรคสัตว์น้ำได้
8. กรณีที่พบสัตว์น้ำมีอาการผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สัตว์น้ำป่วยและตาย และให้รีบแก้ไขตามสาเหตุ หากไม่ทราบหรือไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ด้วยตนเอง ให้รีบปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านโรคและการจัดการด้านสุขภาพสัตว์น้ำ
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูฝน เกษตรกรควรเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดการต่างๆที่กล่าวข้างต้น โรคที่ควรเฝ้าระวังในปลาจะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคตัวด่างที่มีสาเหตุจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium columnare) มักพบหลังจากการย้ายบ่อ หรือการขนส่ง ปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว ดังนั้นหลังการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งปลาให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน เพื่อช่วยลดความเครียด
สำหรับโรคในกุ้งควรเฝ้าระวังปรสิตที่มีสาเหตุจาก ซูโอแทมเนียม (Zoothamnium sp.) หากพบปริมาณมากอาจส่งผลต่อการลอกคราบ ทำให้กุ้งลอกคราบไม่ออก การรักษาสามารถทำได้โดยวิธีการแช่ด้วยฟอร์มาลิน 25-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ตัน ระยะเวลาการแช่ 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตลักษณะอาการภายนอกและพฤติกรรมของสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเกิดบาดแผลบริเวณผิวหนัง หายใจถี่ การรวมกลุ่มตามขอบบ่อ การกินอาหารน้อยลง เพื่อให้สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พบได้อย่างรวดเร็วและยังเป็นการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตายของสัตว์น้ำได้
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...