ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
อพท. จับมือ สพฉ. ยกระดับการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ
08 ส.ค. 2566

อพท. ยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จับมือ สพฉ. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน คุณภาพบุคลากรและการจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หวังสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากลได้อย่างยั่งยืน

 

นาวาอากาศเอก อธิคุณ  คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินของนักท่องเที่ยวเพื่อคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีคุณภาพมาตรฐาน กับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. โดยมีเรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ     แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ร่วมลงนาม เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทางของหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่พิเศษ ทั้งในด้านการป้องกันการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุและการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ให้นักท่องเที่ยว/ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงบริการ และลดการสูญเสียชีวิต อวัยวะหรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะสำคัญ

 

“ความร่วมมือนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามนโยบายและข้อสั่งการของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งครอบคลุมเรื่องของ สะดวก สะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย อพท. จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรของ อพท. ภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยว ตลอดจนผู้แทนชุมชน ให้มีความสามารถในการบริหารจัดการ การป้องกันและการตอบสนองต่อสภาวะวิกฤติและเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนในพื้นที่พิเศษ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและเป็นไปตามหลักสากล รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการจัดทำแนวทางหรือมาตรการการบริหารจัดการ การป้องกันและการตอบสนองต่อสภาวะวิกฤติและเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนในพื้นที่พิเศษ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและเป็นไปตามหลักสากล”

 

ความร่วมมือนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจาก เมื่อ 4 ปีก่อน อพท. และ สพฉ. ได้ร่วมลงนามในรูปแบบนี้มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อดำเนินงานใน 3 พื้นที่พิเศษฯ ของ อพท. และมีผลงานเป็นรูปธรรม ได้แก่ พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง โดย สพฉ. ได้จัดกิจกรรมฝึกซ้อมแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้านการกู้ชีพทางน้ำและการลำเลียงทางอากาศ (เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด) และพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินเกาะหมาก ด้วยอากาศยานของ สพฉ. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร โดย สพฉ. ดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อหาแนวทางการบูรณาการร่วมกันด้านความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาต้นแบบการจัดการภาวะวิกฤตและภาวะฉุกเฉิน (Crisis and emergency management) สำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) รวมถึงจัดทำคู่มือความรู้ด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้เผยแพร่ด้านความปลอดภัยในพื้นที่พิเศษฯ ของ อพท. ในส่วนพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ได้จัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ในการอบรมหลักสูตร Emergency Medical Technician และหลักสูตร EMR (Emergency Medical Responder) และการกู้ชีพเบื้องต้น (First Responder)

 

ด้าน เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ภารกิจของ สพฉ. ในความร่วมมือครั้งนี้ คือ การส่งเสริมสนับสนุนและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาในพื้นที่พิเศษ ตั้งแต่การป้องกัน การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุและการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินงาน และบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ การให้ความรู้การป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และหลักสูตรการฝึกอบรม สำหรับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน บุคลากรของหน่วยงานและประชาชน ให้เป็นไปตามหลักสากลอย่างยั่งยืนต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...