ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
สนค. เผยเศรษฐกิจไทยโตช้า และเศรษฐกิจโลกยังเผชิญหลายความท้าทาย
09 ต.ค. 2566

สนค. เผยว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวไทยเติบโตช้า อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้มีปัจจัยท้าทายหลายประการ อาทิ การใช้นโยบายทางการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางในหลายประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช้ากว่าที่คาด ประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ขยายวงกว้างเป็นสงครามเทคโนโลยี ไปจนถึงการแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญ และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ตลอดจนผลกระทบของภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับตลาดและฐานการผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยจึงยิ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และสามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงช่วงชิงโอกาสจากความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโต GDP เฉลี่ยของไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้การเติบโตของรายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก (ขยายตัวร้อยละ 1.5) ขณะที่ GDP ของประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นในภูมิภาค อาทิ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 4.7 7.5 2.6 และ 4.0 ตามลำดับ และรายได้ต่อหัว
ของอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 4.2 6.5 1.2 และ 2.3 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 2566 ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (จากร้อยละ 3.1 ในปี 2565) และจะยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่เร่งตัวมากนักที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2567 และร้อยละ 3.0 ในปี 2568 และคาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2566 หลังจากนั้นจะชะลอตัวที่ร้อยละ 3.6 และ 3.4 ในปี 2567 และปี 2568 ตามลำดับ ขณะที่คาดการณ์ว่า GDP ของอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 6.0 4.3 และ 6.0 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับเขตเศรษฐกิจอื่นทั่วโลก ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับปานกลาง (อันดับที่ 30) และมีการพัฒนาอันดับดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 3 อันดับ ด้านการค้าสินค้าระหว่างประเทศ ในส่วนการส่งออก แม้มูลค่า
การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า แต่ยังขยายตัวในอัตราที่น้อยกว่าการส่งออกของทั้งโลก (ร้อยละ 11) อีกทั้งอันดับผู้ส่งออกสินค้าโลก เลื่อนลง 1 อันดับ ขณะที่ส่วนการนำเข้า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 14 มากกว่าการนำเข้าของทั้งโลก (ร้อยละ 13) แต่อันดับผู้นำเข้าสินค้าโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ในปี 2565 ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Inflows) น้อยกว่าประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นในภูมิภาคอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์ โดยเม็ดเงินลงทุนในไทยลดลงจากปีก่อนหน้า

ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคอาเซียน อาทิ มาเลเซีย 
ขีดความสามารถในการแข่งขันเลื่อนขึ้น 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 27 การส่งออกสินค้าปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 18 ทำให้
ส่วนแบ่งตลาดส่งออกโลกเพิ่มขึ้น ที่ร้อยละ 1.4 และได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 
ของภูมิภาค ซึ่งมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 จากปีก่อนหน้า และอินโดนีเซีย ขีดความสามารถในการแข่งขันเลื่อนขึ้นถึง 10 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 34 การส่งออกสินค้าปี 2565 ขยายตัวถึงร้อยละ 26 ทำให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกโลกเพิ่มขึ้น
ที่ร้อยละ 1.2 และได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค ซึ่งมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 4.0 จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ปี 2561 ไทยได้เริ่มประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยมียุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ในการยกระดับศักยภาพของประเทศ ซึ่งครอบคลุมยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การเกษตรสร้างมูลค่า (2) อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (3) สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว (4) โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทย เชื่อมโลก และ (5) พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ และปัจจุบันหลายหน่วยงานภาครัฐมีแผนการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับความสามารถและการพัฒนาในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่มีแผนการดำเนินการและโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน อาทิ พัฒนาศักยภาพทางการค้าของเกษตรกรและผู้ประกอบการ พัฒนาระบบนิเวศทางการค้า และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ รวมถึงได้ดำเนินการเจรจากับประเทศ
คู่ค้าต่าง ๆ โดยใช้นโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ในการดึงดูดการลงทุนใน EEC อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการลงทุนในด้านที่แต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่กล่าวมาข้างต้น ไทยจึงยิ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และสามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงช่วงชิงโอกาสจากความท้าทายต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ผ่านการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ (1) การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ – เร่งลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงอายุ โดยระยะสั้นควรมีการ Up-skill/ Re-skill แรงงานในภาคการผลิตที่มีอยู่ ระยะกลางควรมี
การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน และระยะยาวควรมีการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการส่งเสริม
การพัฒนาผู้ประกอบการด้านการค้า รวมถึงการทำตลาดในต่างประเทศ (2) การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน – เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และดิจิทัล เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงอื่น ๆ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งพัฒนา


ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่ไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น (3) การส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจโดยเฉพาะภาคการผลิต – ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และนำมาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตอย่างเหมาะสม รวมถึงการใช้ซอฟท์แวร์ในการผลิตและการบริหารจัดการ และมีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention) อย่างเหมาะสม อีกทั้งควร
เร่งพัฒนา/ปรับปรุงระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ (4) การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ – เร่งส่งเสริมการขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รักษาตลาดเดิม และส่งเสริมการกระจายตลาดส่งออก รวมถึงการดำเนินยุทธศาสตร์การเปิดตลาดการค้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเจรจาจัดทำ/ปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า การเดินหน้าขยายตลาดส่งออก และการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์ และ (5) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ – โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...