ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
“ข้าวหลามร้อยปี 4 เผ่าไทย” ชาวบ้านสืบทอดทำกันทั้งหมู่บ้าน ส่งขายสร้างอาชีพ รายได้งามตกเดือนละกว่า 3 หมื่นบาท
27 ต.ค. 2566

            เมื่อ วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 77 หมู่ 11 บ้านหนองแขม ตำบลสุขสวัสดิ์ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านของ นางประวิทย์ ทีสุกะ อายุ 57 ปี ที่ประกอบอาชีพเสริมจากการทำนา มาเผาข้าวหลามขาย สร้างรายให้กับครอบครัว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการทำข้าวหลามของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ จนบางหมู่บ้านยึดเป็นอาชีพหลักของชุมชน ในพื้นที่ ต.สุขสวัสดิ์ ที่มีการสืบทอดอาชีพนี้มา จากบรรพบุรุษต่อกันมานานนับร้อยปี มีสูตรเด็ดมัดใจลูกค้าได้ด้วยรสชาติที่ หวาน มัน กลิ่นหอม เนื้อนุ่ม ทำให้ขายดีตลอดทั้งปี 

          นางประวิทย์ ทีสุกะ อายุ 57 ปี กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำนา และเริ่มทำข้าวหลามสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว จนมาถึงปัจจุบัน ลูกหลานได้สืบทอดต่อยอดจนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและในชุมชนได้เป็นอย่างดี แหล่งที่ขายคือ ตามหมู่บ้าน ชุมชน ตลาด โรงพยาบาล โดยจะไปขายตามอำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง ราคาขายตามขนาดของบั้งข้าวหลาม เริ่มต้นที่บั้งละ 20-50 บาท สามารถสร้างรายได้วันละ 800-1,000 บาท จะทำขายทุกวันนอกเหนือจากอาชีพทำนา ทำเป็นอาชีพเสริม ทำให้มีรายได้เข้าทุกวัน ในหมู่บ้านจะทำเกือบทุกหลังคาเรือน โดยในช่วงบ่ายจนถึงค่ำของทุกวัน ก็จะทำการเผาข้าวหลาม จากนั้นในทุกๆเช้า ก็จะนำข้าวหลามที่เผาแล้วไปเร่ขาย ตามชุมชน หมู่บ้าน ตลาด และโรงพยาบาล จนหมด ประมาณเที่ยงก็จะกลับเข้าหมู่บ้านแล้วทำการเผาใหม่เพื่อเตรียมนำไปขายในวันต่อไป ทำแบบนี้วนไปวนมาไม่ต่ำกว่า 50 แล้ว

          นางประวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้ข้าวหลามในชุมชนเราอยู่ได้มาเป็น 100 ปี ก็เพราะรสชาติพิเศษ คือ หอมมัน หวานพอดี และชนิดไม้ไผ่ที่นำมาทำ ก็จะเน้นไผ่บ้าน เนื่องจากจะมีกลิ่นหอมเยื่อไผ่ที่อยู่ด้านใน บางคนคิดว่าขั้นตอนการทำข้าวหลาม มีกระบวนการทำที่หลากหลายและยุ่งยาก ทำให้บางคนเลือกที่ซื้อกินดีกว่า บางครั้งตนขายไปเจอคนแก่ คนไม่มีเงิน ตนก็ให้กินฟรี เจอพระสงฆ์ ตนก็จะถวาย ทำบุญ อีกด้วย

          ด้าน นางเสี่ยน กลองพงษ์ อายุ 64 ปี กล่าวว่า ตนทำมาตั้งแต่ลูกยังเล็กยังเรียนหนังสืออยู่ จนลูกเรียนจบมหาวิยาลัย และได้ทำงานจนถึงทุกวันนี้ เป็นระยะเวลานานกว่า 50 ปี แล้ว ทำแบบนี้จนเป็นอาชีพ เผาทุกวัน ทำทุกวัน ขายทุกวัน ร้อนก็อดทนเอา จนกลายเป็นความเคยชิน ข้าวหลามของตนจะเป็นข้าวหลามเผ่าเขมร รสชาติจะออกมัน ใส่มะพร้าวเยอะ ไม่เน้นหวาน เพราะชาวเผ่าเขมรจะไม่ชอบกินหวาน ตนขายได้วันละ 1,300-1,500 บาท 

          ขณะที่ ผศ. ดร.กิจติพงษ์ ประชาชิต อาจารย์และนักวิจัยสี่เผ่าไทไพรบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า สำหรับข้าวหลามในตำบลสุขสวัสดิ์ โดยเฉพาะที่บ้านหนองแขม และบ้านโพนปลัด มีมานานแล้ว แต่มีไม่กี่หมู่บ้านที่ทำเป็นอาชีพ เพราะว่าส่วนที่ทำเป็นอาชีพได้ ก็เพราะมีสูตรที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ทางมหาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้เข้ามาส่งเสริมในด้านของการสืบทอดวัฒนธรรม แสดงออกให้เห็นถึงขั้นตอนการทำข้าวหลามเป็นประเพณีวัฒนธรรมประจำถิ่น เพื่อให้นักท้องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม ในอนาคตก็จะมีสูตรข้าวหลามที่แปลกใหม่เข้ามาเช่น เช่น ข้าวหลามข้าวเม้า ข้าวหลามทุเรียน เป็นต้น 

           ผศ. ดร.กิจติพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ ก็จะมีแหล่งหรือชุมชนที่ทำข้าวหลามเยอะ แต่จะไม่เหมือนชุมชนบ้านหนองแขม ที่จะมีสูตรที่ลงตัวพอดี หอมหวาน มัน เค็มนิดหน่อย ความอร่อยลงตัวพอดี ซึ่งในแต่ละชาติพันธุ์ ของจังหวัดศรีสะเกษ ที่มี 4 เผ่าไทย รสชาติของข้าวหลามก็จากแตกต่างกันไป คือ เผ่าเขมร รสชาติจะมัน ไม่หวาน ส่วนเผ่าส่วยและเยอ จะเน้นรสชาติหวานมันเท่ากัน และเผ่าลาว จะเน้นรสชาติออกหวาน  เหตุผลที่ทำให้ข้าวหลามในชุมชนที่อยู่มานานกว่า100 ปี ก็เพราะรสชาติ คุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิต คือ ใช้ข้าวเหนียวต้องนุ่มเกรด A มะพร้าวต้องเป็นมะพร้าวสด ผ่าออกจากลูก และคั้นสดๆ ไม้ไผ่ต้องเป็นไผ่ที่ปลูกเองในชุมชนหรือเรียกไผ่บ้าน เนื้อเยื่อไผ่จะหอมเป็นเอกลักษณ์ และใช้ฟื้นแทนการใช้ถ่าน เพราะจะทำให้สุกพอดีและมีกลิ่นหอม 

         “ซึ่งในส่วนของ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ในปีนี้ ถือเป็นปีแรกที่เข้ามาวิจัยในเรื่องของภูมิปัญญาในชุมชนนี้ สามารถส่งเสริมให้เป็นวัฒนธรรมประเพณีเทศกาลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและเยี่ยมชม กินข้าวหลามที่อร่อยที่สุด ชมบั้งข้าวหลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้มาที่ชุมชนนี้ ในอนาคตก็จะมีการพัฒนาสูตรและการเก็บไว้ให้ได้กินนานกว่านี้ และสามารถจำหน่ายทางไปรษณีย์ได้ต่อไป” ผศ. ดร.กิจติพงษ์ กล่าว.
/////////
ณัฐธรชนม์  สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ
โทร.08-1600-7969

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...