ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กวาวเครือขาว...สมุนไพรอัตลักษณ์ความเป็นไทย
17 พ.ย. 2566

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ในฐานะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ได้ศึกษาข้อมูลสมุนไพรกวาวเครือขาว (Pueraria Mirifica) ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นเมืองของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ กวาวเครือขาวถูกใช้เป็นยาแผนไทยมาเป็นเวลานาน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ได้กำหนดให้กวาวเครือขาวอยู่ในกลุ่มสมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็น Herbal Champion หรือสมุนไพรที่มีศักยภาพทาง

เศรษฐกิจสูงของไทยกวาวเครือขาวเป็นพืชไม้เลื้อยหรือพืชตระกูลถั่ว ส่วนหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะกลม มีอายุหลายปี มีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อมีสีขาวคล้ายมันแกว มียางและมีสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืนในสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน นอกจากนี้ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์อื่น ๆ เช่น ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของกระดูก และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น 

กวาวเครือขาวส่วนใหญ่พบตามธรรมชาติทางภาคเหนือของไทย และปลูกมากในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศ สำหรับการนำเข้าส่งออกมีไม่มาก โดยข้อมูลจากใบขนสินค้าของกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2565 ไทยนำเข้าสารสกัดจากกวาวเครือขาวจากเกาหลีใต้ ประมาณ 1 กิโลกรัม และส่งออกในรูปแบบแห้งและผง (ประมาณ 590 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นแบบผง) โดยส่งออกไปยังไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และอิตาลี เป็นต้น สารสกัดรูปแบบผง (ประมาณ 200 กิโลกรัม) ส่งออกไปยังมาเลเซีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย และสารสกัดรูปแบบน้ำ (ประมาณ 80 กิโลกรัม) ส่งออกไปจีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น            อย่างไรก็ตาม กวาวเครือขาวมีการนำไปแปรรูปเป็นสารสกัด และใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด แต่เนื่องจากไม่มีพิกัดศุลกากรที่จะจำแนกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพร จึงทำให้ไม่ทราบมูลค่าการส่งออกที่แน่ชัดของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ
สมุนไพรกวาวเครือขาว

เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ตลาดและแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม
ของกวาวเครือขาว สนค. ได้ศึกษาข้อมูลจากฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์
เปิดตัวใหม่ทั่วโลก GNPD (Global New Products Database) รวบรวมโดย บริษัท วิจัยตลาด Mintel พบว่า ในช่วงปี 2556 – 2566 (ถึงปัจจุบัน) มีการรายงานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาว (Pueraria mirifica) ในกลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (Beauty & Personal Care) และกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health) รวมจำนวน 159 รายการ  

โดยประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย (Body Care) 33 รายการ (ร้อยละ 20.8 ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวทั้งหมด) (2) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและคอ (Face/Neck Care) 30 รายการ (ร้อยละ 18.9) (3) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า (Face Cleanser) 26 รายการ (ร้อยละ 16.4) (4) ยาสระผม 10 รายการ (ร้อยละ 6.3) และ (5) ผลิตภัณฑ์ดูแลดวงตา (Eye Care) 9 รายการ (ร้อยละ 5.7)

แหล่งผลิตสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาว 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ญี่ปุ่น 64 รายการ (ร้อยละ 40.3
ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวทั้งหมด) (2) เกาหลีใต้ 24 รายการ (ร้อยละ 15.1) (3) ไทย 13 รายการ (ร้อยละ 8.2) (4) จีน 5 รายการ (ร้อยละ 3.1) และ (5) ไต้หวัน 3 รายการ (ร้อยละ 1.9)

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวที่ผลิตจากไทย (จำนวน 13 รายการ) มีผลิตภัณฑ์ ได้แก่ (1) สบู่ก้อน (Bar Soap) 3 รายการ (ร้อยละ 23.1ของจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวที่ผลิตจากไทย) 
(2) ยาสระผม 3 รายการ (ร้อยละ 23.1) และ (3) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย (Body Care) 2 รายการ (ร้อยละ 15.4) (4) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและคอ (Face/Neck Care) 2 รายการ (ร้อยละ 15.4) และ (5) ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้น (Intimate Hygiene) 
1 รายการ (ร้อยละ 7.7)

ส่วนตลาดที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ญี่ปุ่น 69 รายการ (ร้อยละ 43.4 ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวทั้งหมด) (2) ไทย 34 รายการ (ร้อยละ 21.4)  (3) เกาหลีใต้ 18 รายการ (ร้อยละ 11.3) (4) อินโดนีเซีย 6 รายการ (ร้อยละ 3.8) และ (5) ไต้หวัน4 รายการ (ร้อยละ 2.5) โดยทั้ง 5 ตลาดรวมกัน มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือขาวที่วางจำหน่ายทั้งหมดทั่วโลก

“กวาวเครือขาวเป็นสมุนไพรที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย อีกทั้งเป็นที่รู้จักในชื่อ “ไทย คุดซู” (Thai Kudzu) สามารถต่อยอดผลักดันเป็น Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยได้ อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไม่อนุญาตให้ใช้กวาวเครือขาวเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากยังไม่เคยมีหลักฐานการบริโภคมาก่อนในเกาหลีใต้ และอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ดังนั้น 
การส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือขาวของไทย อาจเริ่มจากตลาดภายในประเทศก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยเกิดความมั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัย และเมื่อเป็นที่ยอมรับของตลาดภายในประเทศแล้ว ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สามารถซื้อเป็นของฝากจากเมืองไทย” นายพูนพงษ์กล่าว

บริษัทวิจัยตลาด Euromonitor International รายงานข้อมูลการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลก ในปี 2565 มีมูลค่า 56,104.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากปีก่อนหน้า ประเทศที่มีมูลค่าการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 33.2 15.2 และ 6.1 ของมูลค่าการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลก ตามลำดับ สำหรับไทย ตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่า 1,534.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 ของตลาดโลก และขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยไทยอยู่ในอันดับ 8 ของโลก

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...