ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - ปลาตะพากส้มเล็กใหญ่ นับพันนับหมื่นตัว ว่ายเบียดเสียดกันเพื่อหาพื้นที่วางไข่ ในลำห้วยโรคี่
28 ก.พ. 2567

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ไปเฝ้าบันทึกภาพปลาตะพากส้มจำนวนพันนับหมื่นตัวที่จับคู่ผสมพันธุ์ และขึ้นมาวางไข่ บนเกาะแก่งกลางลำห้วยโรคี่ บริเวณชายป่าบ้านสะเนพ่อง หมู่ที่1 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นภาพที่หาดูยาก เพราะจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนปลายเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ซึ่งใน 1 ปีจะมีให้เห็น 1-2 วันเท่านั้น

        ลำห้วยโรคี่ มีปลาตะพากส้มเป็นปลาประจำถิ่น อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยปกติปลาจะวางไข่ในช่วงวันพระขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ปีนี้การขึ้นวางไข่ของปลาได้เลยมาในเช้ามือวันนี้ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากก่อนหน้านี้ในพื้นที่มีอากาศที่ร้อนอบอ้าว ประกอบกับช่วงคืนที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในพื้นที่บ้านสะเนพ่องเล็กน้อย ส่งผลให้เช้าวันนี้ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยเมฆ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะในการขึ้นวางไข่ของปลาส้มตะพาก

        โดยผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าปลาได้เริ่มวางขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่วันนี้ ทั้งนี้วันนี้ ปลาตะพากส้มมาวางไข่ไม่มากนัก คาดว่าเนื่องจากสภาพอากาศวันนี้ยังไม่เหมาะสมเต็มที่  ทั้งนี้อาจมีการขึ้นวางไข่อีกครั้งในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้
ทังนี้จากการสังเกตและข้อมูลที่ได้จากชาวบ้านพบว่า สถานที่ปลาตะพากเลือกวางไข่จะเป็นเกาะแก่งที่มีหินขนาดเล็กใหญ่เพื่อไว้สำหรับเป็นที่วางไข่และฟักตัวอ่อน มีกระแสน้ำไม่เชี่ยวมากนัก น้ำลึกประมาณ10-15 เซนติเมตร มีความสงบ ไม่มีศรัตรูในธรรมชาติรบกวน(คน นกจำพวกนกยาง นกกระเต็น) 

      พฤติกรรมที่พบขณะวางไข่ปลาเพศเมีย ปลาเพศผู้ จะว่ายมารวมตัวกันเป็นฝูง ก่อนจะเบียดเสียดกันขึ้นแก่งหินริมตลิ่ง จนบางครั้งเผลอขึ้นฝั่งก่อนจะแสดงอาการสะบัดหาง และตีน้ำให้กระจายแล้วจึงค่อยปล่อยไข่ออกมาจากตัว ทันใดนั้นปลาตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่า จะรีบว่ายน้ำมาบริเวณที่ปลาตัวเมียวางไข่เพื่อทำการปล่อยสเปิร์มออกมาผสม ซึ่งการขึ้นวางไข่ของปลาจะใช้เวลานาน 4-5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนปลา สภาพอากาศ และการถูกรบกวนจากคนและสัตว์

         ส่วนการมาชมปลาวางไข่ก็ต้องมีกฎ คือ ต้องไม่ส่งเสียงดัง เพื่อให้ปลาได้วางไข่ได้อย่างเต็มที่ ต่อจากนี้ในระยะเวลาภายใน 7 วัน ไข่ปลาจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจนเป็นตัวอ่อน ซึ่งในช่วงเวลา 7 วันนี้ จะมีการประกาศไม่ให้มีการมารบกวนพื้นที่ที่ปลาวางไข่ พร้อมมีการจัดเวรยามเข้ามาคอยดูแล เพื่อไม่ให้มีการรบกวนแก่งที่ปลาวางไข่ไว้อีกด้วย และต่อเนื่องในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนปลาตะพากส้มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เสียง นายเจริญศักดิ์ กันทรพิมาน) แกนนำเยาวชนบ้านสะเนพ่องที่ศึกษาเรื่องปลาตะพากเพื่อการอนุรักษ์
  
         ขณะที่ น.ส.กานตา ร่มไพรงาม ชาวบ้านบ้านสะเนพ่อง เผยกับผู้สื่อข่าวว่าตนเองสนใจติดตามดูพฤติกรรมขึ้นวางไข่ของปลาตะพากมา 2-3 ปีแล้ว รู้สึกดีใจที่ได้เห็นการขึ้นวางไข่ของปลาซึ่งปีที่ผ่านมาก็มาดูตรงบริเวณเดียวกับวันนี้ ที่ต้องมาดูทุกครั้งเนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาสภาพอากาศแปรปรวนผลจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีปลาตะพากขึ้นมาวางไข่ให้ได้เห็นอีกหรือไม่ ที่สำคัญการมาติดตามเฝ้าดูการวางไข่ของปลา สามารถช่วยป้องกันนกที่จะมากินไข่ปลา หรือคนที่จะมาจับปลาในช่วงที่ปลากำลังวางไข่ โดยในวันนี้ตนเองได้พาลูกชายวัย 7 ขวบมาด้วยเนื่องจากอยากให้ลูกได้มีโอกาสเห็นเนื่องจากอนาคตอาจไม่มีให้เห็นว่าถ้าทุกคนไม่ร่วมกันอนุรักษ์ 

       ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่าดูแลป่าต้นน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้แม่น้ำโรคี่แห่งนี้ยังคงมีปลาที่อุดมสมบูรณ์ ให้เป็นแหล่งอาหารในธรรมชาติสำหรับลูกหลานต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นอยากฝากถึงนักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นที่มาท่องเที่ยวในชุมชนให้ร่วมกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่นี่จะได้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เพื่ออนาคตนักท่องเที่ยวหรือบุคคลใดที่สนใจอยากมาดูการวางไข่ของปลาตะพากที่นี่จะได้มีโอกาสมาเห็นเหมือนในวันนี้

        ขณะที่นางสาวธิดาวรรณ  โพธิเพ็ชร รักษาราชการแทนประมงจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตนเองและเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จะลงพื้นที่บ้านสะเนพ่อง เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลการวางไข่ของปลาตะพากส้ม ในลำห้วยโรคี่ เพื่อการศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจต่อไปในอนาคต
   /////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...