ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
จังหวัดสระบุรี ประกอบพิธีถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันท้องถิ่นไทย ประจำปี 2567
18 มี.ค. 2567

             วันนี้ (18 มี.ค.2567)เวลา 09.00 น. นายบัญชา เชาวรินทร์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานวางพานพุ่มและถวายเครื่องราชสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5   ณ หน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ ภายในหอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี    โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ,นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,สมาชิกและข้าราชการพร้อมเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมพิธี เนื่องในวันท้องถิ่นไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอม ขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครอง ให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทย

                สำหรับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน และได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพตลาดเมืองนครเขื่อนขันธ์สกปรกมาก จึงทรงมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า “โสโครกเหมือนกับตลาดท่าจีน” หรือตลาดท่าฉลอม จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และพระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร ได้เชิญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้าชาวจีนในตลาดท่าฉลอม มาประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางปรับปรุงแก้ไข โดยพ่อค้าและประชาชนยินดีที่จะเสียสละน้ำพักน้ำแรงร่วมกันรักษาความสะอาดและสร้างถนนขึ้น

              ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.124 หรือ พ.ศ.2448 ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดถนน ต่อมาตั้งชื่อถนนว่า “ถนนถวาย” ในการนี้ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินภาษีโรงร้านตลาดท่าฉลอม เพื่อใช้ทำนุบำรุงท้องถิ่น และได้ประกาศจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ปกครองทำนุบำรุงท้องถิ่นกันเอง
         ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ กำหนดให้วันที่ 18 มีนาคมของทุกปี นับจากปีพุทธศักราช 2448 จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 119  ปี  ประเทศไทย มีองค์กรปครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง ถือเป็นหน่วยของการบริหารราชการแผ่นดินที่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการสร้างอาชีพ นวัตกรรมการบริหารจัดการและแนวทางการให้บริการประชาชน ไปจนถึงการพัฒนา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
สมพงษ์ ปานรุ่ง รายงาน สระบุรี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...