ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ชาวสระลงเรือปลื้มปิติ หลังในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบัน ปชช.17 หมู่บ้าน 2000 หลังคาเรือน 7,000 กว่าคน มีน้ำใช้
14 เม.ย. 2567

       วันนี้ 14 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายระเบียบ ปทุมสูตร นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ นายสุที แก้วปาน ประธานสภาเทศบาลตำบลสระลงเรือ นายชัยวัฒน์ ธนวัฒน์สุวรรณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขตอำเภอห้วยกระเจา นายสมยศ เชาว์รักษ์ กำนันตำบลสระลงเรือ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะที่ 2 บ้านหนองบัวหิ่ง หมู่ 4 ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวสามารถนำน้ำไปให้ประชาชนชาวตำบลสระลงเรือใช้ในการอุปโภคบริโภคครอบคลุมทั้ง 17 หมู่บ้านแล้ว 100%

        ทั้งนี้ นายระเบียบ ปทุมสูตร นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ กล่าวว่า เขตเทศบาลตำบลสระลงเรือของเรามี 17 หมู่บ้าน นับย้อนหลังกลับไปหลายสิบปีพื้นที่ของเราไม่เคยมีน้ำประปาใช้ อีกทั้งเป็นพื้นที่เงาฝนที่มีความแห้งแล้งซ้ำซาก แต่เมื่อถึงเวลาฝนตกลงมาก็เกิดน้ำท่วม เมื่อฝนไม่ตกก็เกิดความแห้งแล้งน้ำไม่มีใช้ทั้งภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภคเพราะแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ได้เพราะพื้นที่เป็นดินทรายน้ำจึงซึมลงไปใต้ดิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางเทศบาลต้องนำรถไปบรรทุกน้ำที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มาแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน

           หลายปีที่ผ่านมาทางเทศบาลตำบลสระลงเรือได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขุดเจาะบาดาลเพื่อให้ทุกหมู่บ้านได้มีน้ำใช้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาทางเทศบาลได้มีโอกาสปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับท่านศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.จังหวัดกาญจนบุรี เขต 4 พรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งท่านได้คำแนะนำว่า ไม่จำเป็นจะต้องเจาะบ่อบาดาลให้กับทุกหมู่บ้าน แต่จะต้องสำรวจหาพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ หากพบก็ให้เจาะแล้วกระจายน้ำที่มีอยู่ไปให้กับทุกหมู่บ้านได้เลย ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวพวกเราชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าสามารถทำได้

          และในที่สุดท่านได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบาดาลลงพื้นที่สำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ตำบลสระลงเรือทั้ง 17 หมู่บ้าน ใช้เวลาออกสำรวจนานกว่า 1 เดือนจนกระทั่งมาพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในที่ดินของเอกชนท้องที่หมู่ 4 บ้านหนองบัวหิ่ง ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา

          แต่ปัญหาที่พบคือที่ดินนั้นเป็นที่ของชาวบ้านที่เป็นโฉนด ไม่ใช่ที่ดินของรัฐหรือที่ดินสาธารณะ ทางเทศบาลตำบลสระลงเรือจึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จะนำงบประมาณมาจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้เพราะมันผิดระเบียบของทางราชการ

          แต่ต่อมาข้าราชการ รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่เทศบาลตำบลสระลงเรือ ได้พร้อมใจกันเสียสละเงินเดือนคนละ 1 เดือน มอบให้กับเทศบาล นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการร้านค้ารวมทั้งชาวบ้านช่วยกันบริจาคสมทบทุนด้วยความเต็มใจ สุดท้ายก็สามารถจัดซื้อที่ดินของชาวบ้านบริเวณที่พบแหล่งน้ำบาดาลเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน เป็นเงินจำนวนกว่า 1 ล้านบาท

       จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)จึงนำเจ้าหน้าที่มาสำรวจหาแหล่งน้ำอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งผลปรากฎว่าพบแหล่งน้ำใต้ดินอยู่หลายจุด แต่ละจุดอยู่ที่ความลึก ประมาณ 80-152 เมตร รวม 6 จุด เจ้าหน้าที่จึงนำเครื่องจักรมาขุดเจาะ พบว่าแต่ละบ่อได้ปริมาณน้ำอยู่ที่30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง 

          ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำงบประมาณมาลง ได้ทำการตรวจสอบเพื่อความแน่ชัดด้วยการทดลองสูบน้ำขึ้นมาอย่างเต็มกำลังนานถึง 72 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าน้ำใต้ดินลดลงไปเพียงแค่ 5 เมตรเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทรพยากรน้ำบาดาล แจ้งให้ทราบว่าแหล่งบาดาลใต้ดินมาจำนวนมหาศาลมาก

          จากนั้นนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ลงพื้นที่เพื่อมาให้คำปรึกษาพร้อมกับแนะนำว่าให้ทางเทศบาลตำบลสระลงเรือจัดทำโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อของบประมาณ และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงรับไว้เป็น 1 ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งหลังจากพสกนิกรชาวสระลงเรือทราบ ต่างก็รู้สึกปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้

          ต่อมา ปี 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติงบกลางให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลนำมาก่อสร้างถังแชมเปญขนาด 300 คิว ถังพักน้ำขนาด 1,000 คิว 2 ถัง และเรายังโชคดีที่ได้ท่อเมนกระจายน้ำประปาเป็นระยะทาง 40  กิโลเมตรซึ่งครอบคลุมไปทั้ง 17 หมู่บ้านของเทศบาลตำบลสระลงเรือ ซึ่งถือว่าเราได้ท่อเมนกระจายน้ำประปาไปตามหมู่บ้านต่างๆมากที่สุดในภาคตะวันตก ปัจจุบันชาวเทศบาลตำบลสระลงเรือทั้ง 17 หมู่บ้าน 2,000 กว่าครัวเรือน ประชากร 7,000 กว่าคน ได้ใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคแล้ว 100 % 

          นายระเบียบ ปทุมสูตร นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลสระลงเรือภูมิใจคือ เมื่อวันพุธที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารได้รับรางวัลเครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2567 ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จากการบริหารจัดการโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ของเทศบาลตำบลสระลงเรืออีกด้วย
    ////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...