ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
กสม.เร่งแจง3ปมไอซีซี
15 ธ.ค. 2558

 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดงานเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธ.ค. 2558 ภายใต้แนวคิดสิทธิมนุษยชนกับการเดินหน้าประเทศไทย โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างร่วมเสวนา เรื่องสิทธิมุนษยชนกับการเดินหน้าประเทศไทย ร่วมกับ กสม.ชุดปัจจุบัน ว่าหลังเหตุวินาศกรรมเมื่อ 9 ก.ย. 2011 จนมาถึงเหตุการณ์กราดยิงที่กรุงปารีส สิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องของโลกทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการเมือง และการก่อการร้ายข้ามชาติ และถูกมองในมุมใหม่ที่เพิ่มขึ้นในหลายมติ โดยเฉพาะนายทุนข้ามชาติและการก่อการร้ายข้ามชาติ ก่อนหน้านี้เรามัวแต่สนใจเรื่องภายใน เราทะเลาะกับรัฐบาล อนาคตไม่ใช่แล้ว เราจะทะเลาะกับนายทุนข้ามชาติ และการก่อการร้ายข้ามชาติ เกิดวาทกรรมใหม่ๆ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพบุคคลต้องมีข้อจำกัด ต้องเสียสละเพื่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อเพิ่มสิทธิสาธารณะ เพื่อป้องกันการก่อการร้ายข้ามชาติ เช่น เวลาเดินทางเราอาจจะต้องถูกตรวจค้นกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมเสียงสละความเป็นส่วนตัวนี้ เพื่อที่จะคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ขณะที่สิทธิในด้านเศรษฐกิจ นายทุนจะไปลงทุนในพื้นที่ใดตามใจชอบไม่ได้แล้ว ต้องมีการจำกัดพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยยึดหลักธรรมรัฐ ธรรมาภิบาลเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
       
       นอกจากนี้ ความคิดเดิมที่บอกว่ารัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต้องตอบสนองโดยการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น แม้ว่าความคิดนี้จะยังมีอยู่ แต่ก็ต้องทำให้เป็นจริงมากขึ้น เพราะเมื่อกฎที่ออกนั้นทำให้บุคคลต้องเสียสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ก็จำต้องมีการเยียวยามากขึ้นไม่ว่าผู้ที่กระทำจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ตาม สิ่งที่ท้าทายมากขึ้นในขณะนี้คือเราจะปรับกระบวนทัศน์อย่างไร เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของพลวัตที่มีความซับซ้อน และกำลังมีการช่วงชิงอำนาจในการที่จะตีความหมายว่าขอบเขตของสิทธิมนุษยชนควรมีแค่ไหน เมื่อฝ่ายหนึ่งสุดโต่ง อีกฝ่ายก็เกิดแรงต้าน ดังนั้นจึงต้องช่วยกันคลี่คลาย ทำข้อตกลง ออกกฎหมาย สร้างกฎเกณฑ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาล ความโปร่งใสและสามารถถูกตรวจสอบได้ ขณะที่กรรมการสิทธิซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ก็ต้องพิจารณาว่าเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างสมดุลได้อย่างไร
       
       จากนั้นก็ได้มีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประจำปี 2558 ที่น่าสนใจ ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายณรงค์ทำงานมุ่งเน้นในการรักษาสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ผู้ด้อยโอกาส นางศิริพร สะโครบาเน็ค ประธานมูลนิธิผู้หญิง ซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือหญิง และเด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหาการค้าผู้หญิงและเด็ก น.ส.สุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง ที่ต่อสู้เรื่องการริดรอนสิทธิแรงงานในเขตสุมทรสาคร และนครปฐม ประเภทเด็กและเยาวชน ได้แก่ กลุ่มเยาวชนสงขลาส่องแสง ที่มุ่งทำงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านเกิด ประเภทองค์เอกชน ได้แก่มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน ที่ทำงานเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวติของเด็ก
       
       ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีสถาบันสิทธิมนุษยชนสากล หรือไอซีซี จะลดระดับ กสม.ไทยจากเกรดเอเป็นบีว่า ไทยต้องทำหนังสือชี้แจงไอซีซีภายในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ใน 3 ประเด็นคือ 1.การสรรหากสม.ต้องมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วม 2. กสม.ต้องมีหลักประกันในการทำงานที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และ 3. การจัดทำรายงานประจำปี ต้องไม่ล่าช้า ซึ่ง 2 ประเด็นแรก กสม.ได้มีการหารือกับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้วรวมทั้งต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ส่วนในประเด็นการจัดทำรายงานประจำปี ก็ได้มีนโยบายที่จะทยอยเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นปีและมีการทำงานรายงานครึ่งปี เพื่อให้การจัดทำงานประจำปีทันต่อกำหนดเวลา
       
       นายวัสยังกล่าวกรณีผู้ที่กดแชร์ กดไลก์แผนผังการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ถูกจับกุมดำเนินคดีว่า กสม.ได้มีการหารือเย็นวันที่ 14 ธ.ค. และเห็นว่าข้อยุติในขณะนี้มีการควบคุมตัวผู้กระทำผิดโดยมีการไปฝากขังตามสถานที่คุมขังต่างๆ ชัดเจนแล้ว ซึ่งก็อยากจะวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการจับกุมตัว ก็ควรแจ้งสถานที่ควบคุม ให้กับญาติทราบโดยเร็ว และทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
       
       “ถ้าตามข่าวก็จะบอกว่าเจ้าหน้าที่มีการไปควบคุมตัวผู้กระทำผิดถึงเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล แต่ด้วยข้อเท็จจริงขณะนี้คือไม่ใช่ ซึ่งการที่ข้อมูลมีความสับสน ก็จะทำให้ปัญหาตีความการบังคับใช้กฎหมายผิดไปด้วย กสม.ชุดนี้ก็เพิ่งเข้ามารับหน้าที่และมีงานเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไข หลายเรื่องจึงยังต้องขอเวลาค่อยเป็นค่อยไป แต่ในเรื่องดังกล่าว กสม.ก็จะติดตามอยู่เป็นระยะ”
       

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...