ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ไทยนิยม ยั่งยืน : 2 เดือนแรก กษ.เบิกจ่ายแล้ว 4 พันล้าน สร้างรายได้ 423 ล้านบาท
23 ส.ค. 2561

โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการของรัฐบาลที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปในหลายหน่วยงาน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านนี้มาทั้งสิ้น 24,993 ล้านบาท

ทั้งนี้ ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยถึงผลของโครงการฯ ใน 2 เดือนแรก มีการเบิกจ่ายแล้ว 4,060 ล้านบาท เกษตรกรและประชาชนร่วมโครงการ 1.7 ล้านราย สร้างรายได้กว่า 423 ล้านบาท โดย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยปลัดกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ มาทั้งสิ้น 24,993 ล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 4,060 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.25 ประกอบด้วย 2 แผนงาน รวม 22 โครงการ โดยผลการดำเนินงาน ณ เดือนมิถุนายน 2561 พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 1.7 ล้านราย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและประชาชนรวมกว่า 423 ล้านบาท โดยแต่ละแผนงานมีความก้าวหน้าภาพรวม คือ

แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชนมีการสร้างฝายชะลอน้ำแล้วรวม 255 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และซ่อมแซมระบบชลประทานแล้วรวม 32 รายการ

2. การปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง สนับสนุนเกษตรกรทำกิจกรรมเกษตรอื่นทดแทนการทำสวนยาง รายละไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 30,000 ราย รวมทั้งฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ในการประกอบอาชีพใหม่ ได้รับอนุมัติแล้ว 14,893 ราย พื้นที่ 94,660 ไร่ เกษตรกรรับเงินงวดที่ 1 จำนวน 1,620 ราย อบรม 2,739 ราย

3. พัฒนาการผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร 1,049 ราย จัดเวทีชุมชนเพื่ออบรมการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพแล้ว 4.71 แสนราย ขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์ให้กลุ่มเกษตรกร 17 กลุ่ม รวม 8.33 ล้านบาท อบรมอาสาผสมเทียม 3,800 ราย อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ 2,372 ราย 

4. แก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร มีการพัฒนาอาชีพด้วยการฝึกอบรมเกษตรกรแล้ว 5,038 ราย อบรมการทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพแก่เกษตรกรแล้ว 6,857 ราย ครูอาสา 361 ราย อบรมและพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รับสมัครและคัดเลือก Young Smart Farmer (YSF) 2,984 ราย

และ 5. บริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อพัฒนาสถาบันเกษตรกรในการจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร (แก้มลิง) มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 143 แห่ง สนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรแก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร 62 แห่ง รวมทั้งส่งเสริมการใช้ยางในด้านชลประทาน โดยนำยางพารามาซ่อมแซมและปรับปรุงคันคลองชลประทาน 317 โครงการ มีการรับซื้อน้ำยางสดแล้ว 3,952 ตัน แปรรูปเป็นน้ำยางข้น 1,880 ตัน สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร 371 แห่ง 8,503 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และ SMEs โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการและเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปแล้ว 529 ราย วิสาหกิจสมัครเข้าร่วมโครงการ 747 กิจการ  และกระทรวงพาณิชย์ร่วมบูรณาการในการจัดทำตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมประชารัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค โดยจัดอบรมแล้ว 882 ราย แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตอบรมเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 131,204 ราย อบรมแล้ว 12,107 ราย และจ้างงานชลประทานเพื่อสร้างรายได้ในการปรับปรุงโครงการชลประทาน ดำเนินการแล้ว 119 รายการ จ้างแรงงาน 6,426 ราย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งตรงกับฤดูทำนา ทำให้การจ้างแรงงานชลประทานในบางจังหวัดไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะต้องขยายเวลาการดำเนินงานออกไปตามสภาพพื้นที่ ขณะที่การฝึกอบรมบางแห่งอาจต้องปรับย้ายสถานที่จัดอบรมโครงการเพิ่มทักษะอาชีพให้ไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเกษตรกรมากขึ้นและทำการอบรมหลังช่วงฤดูเพาะปลูกให้เหมาะสมต่อไป รวมทั้งควรติดตามให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างแก่สถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีความชำนาญในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในช่วงแรก (พ.ค. - มิ.ย.61) นับว่ายังอยู่ในระยะขั้นต้นของการเตรียมการในกระบวนการต่างๆ ตามแผนที่กำหนด และจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จตามโครงการทั้งหมด จะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ถึง 4.3 ล้านราย ก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 63,599 ล้านบาท (2.54 เท่าของงบประมาณ) ช่วยให้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 35,304 ล้านบาท/ปี

ด้านกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ออกมาเปิดเผยถึงการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่า ขณะนี้การขับเคลื่อนในส่วนที่กรมฯ รับผิดชอบ 4 โครงการ มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 1,198.63 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับจำนวน 1,792 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร มีดำเนินการเบิกจ่ายแล้ว 122 แห่ง 207 รายการ งบประมาณทั้งสิ้น 639.31 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,017.91 ล้านบาท

โครงการที่ 2 โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มีการเบิกจ่ายแล้ว 88 แห่ง 204 รายการ งบประมาณทั้งสิ้น 302.78 ล้านบาท จากทั้งหมด 410.62 ล้านบาท ส่วนโครงการที่ 3 คือโครงการเพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร ดำเนินการเบิกจ่ายแล้ว 52 แห่ง 119 รายการ งบประมาณทั้งสิ้น 274.59 ล้านบาท จากทั้งหมด 340.42 ล้านบาท ส่วนโครงการสุดท้ายคือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วทั้งสิ้น 8.95 ล้านบาท จากทั้งหมด 18.35 ล้านบาท

“กรมฯ เชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของรัฐบาล เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดสินค้าเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ผ่านกลไกชะลอปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วงผลผลิตล้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ปรับตัวสูงขึ้น” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ในขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้จัดทีม 19 ทีม ติดตามประเมินผล 22 โครงการ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน  พร้อมวางแผนลงพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สศก.เปิดเผยว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครการไทยนิยมยั่งยืน ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรสงเกษตรฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จตามเป้าหมาย คณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลแผนงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร โดยมีรองเลขาธิการ สศก.เป็นประธาน เพื่อติดตามประเมินผลโครงการ และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการได้มีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล โดย สศก.ได้จัดทีมประเมินผลออกเป็น 19 ทีม 

สำหรับการปฏิบัติงานลงพื้นที่สำรวจข้อมูลติดตามประเมินผล  ได้กำหนดประเด็นการติดตามประเมินผล 7 ด้าน ได้แก่ การรับรู้หรือ รับทราบโครงการ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือรัฐบาล / การได้รับสนับสนุน, ช่วยเหลือ, จ้างงานจากโครงการ / การได้รับองค์ความรู้จากโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / การนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในพื้นที่ของเกษตรกร / การได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรฯ / การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในด้านต่างๆ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...