ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ป.ป.ท. โชว์ 14 ผลงานวิชาการ “ด้านการศึกษารูปแบบการทุจริต”
18 ก.ย. 2561

นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ท. เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการทุจริต ประจำปี 2561 โดยมีพันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ท. คณะอนุกรรมการพิจารณาผลการศึกษารูปแบบการทุจริต ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ท. เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ระดับกระทรวง รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 150 คน      เข้าร่วมงานดังกล่าว 

นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีสถิติจำนวนการรับเรื่องร้องเรียน มากกว่า 30,000 เรื่อง โดยเป็นลักษณะประเภทคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีพฤติการณ์ หรือรูปแบบการทุจริตที่หลากหลายตามภารกิจงานของแต่ละองค์กร บางคดีที่มีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคดีอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ส่งผลกระทบรุนแรง มีมูลค่าความเสียหายสูง ซึ่งมีตัวแปรปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ” ทั้งนี้ จึงนำมาสู่การศึกษารูปแบบการทุจริตในคดีของสำนักงาน ป.ป.ท. และศึกษาแนวทาง/มาตรการ/เครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยเหตุนี้ จึงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาผลการศึกษารูปแบบการทุจริต ขึ้น โดยมี รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา อาทิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวน และผู้มีประสบการณ์ด้านงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานผลการศึกษารูปแบบการทุจริตของหน่วยงานสังกัดสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งนำคดีที่มีความซับซ้อน ยุ่งยาก หรือประเด็นเรื่องที่เห็นว่ามีโอกาส/ความเสี่ยงที่จะเกิดทุจริตได้ง่าย มาทำการศึกษาเพื่อหาแนวทาง มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาใช้ในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและรวดเร็ว อันจะส่งผลให้ลดโอกาส   การทุจริต และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนางานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

สำหรับการพิจารณาผลการศึกษารูปแบบการทุจริต ประจำปี 2561 สำนักงาน ป.ป.ท. ได้รวบรวมผลงานวิชาการจากหน่วยงานในสังกัด ประกอบด้วย กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1 - 5 และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1 - 9 รวมจำนวนทั้งสิ้น 14 เรื่อง เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการด้านการศึกษารูปแบบการทุจริตให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสังกัดหน่วยงานอื่น รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการศึกษารูปแบบการทุจริต ดังนี้

1. กรณีการสมรสอำพรางของชาวต่างชาติกับชาวไทย จัดทำโดยกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 
2. กรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเงินออมชราภาพผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคมจัดทำโดยกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2
3. การยักยอกทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐวิสาหกิจด้านสถาบันการเงิน กรณีการทุจริตของพนักงานรับฝากเงินและตราสาร จัดทำโดยกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 3
4. กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร จัดทำโดยกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4
5. กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ กรณีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยมิชอบ จัดทำโดยกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 5 
6. รูปแบบการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการบริหารงานคลัง จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1
7. กรณีการเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านตามข้อ 97 ของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 2
8. กรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 3
9. กรณีการควบคุมงาน และการตรวจรับงานจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่รับผิดชอบของ ปปท.เขต 4 จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 4
10. กรณีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยวิธีการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน กรณีที่มีเขตติดต่อกับแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตอุทยานแห่งชาติ จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ    เขต 5
11. กรณีสวมบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 6
12. กรณีการเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการไปเป็นของตนเอง โดยทุจริตของพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 7
13. กรณีการจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 8
14. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จัดทำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 9

ทั้งนี้ การนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการทุจริตในคดีของสำนักงาน ป.ป.ท. จะนำไปสู่การขยายผลและพัฒนางานให้เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...