ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ก.เกษตรฯ ยกระดับเลี้ยงโคนม ตามมาตรฐานฟาร์ม GAP
04 ต.ค. 2561

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีการพัฒนาปรับปรุงฟาร์ม ระบบการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มให้ถูกสุขอนามัย โดยให้ฟาร์มโคนมได้รับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพน้ำนมให้ได้มาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมของไทยให้มีความเข้มแข็ง รองรับการค้าเสรี และสามารถแข็งขันกับต่างประเทศได้

โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ และพะเยา มีโคนมทั้งสิ้น 72,435 ตัว เป็นโครีดนม จำนวน 30,708 ตัว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาให้ได้มาตรฐานฟาร์ม (GAP) เพื่อยกระดับการจัดการเลี้ยงโคนมแบบมืออาชีพ สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ปลอดโรคและปลอดภัยต่อการบริโภค โดยจัดทำโครงการนมคุณภาพสูงล้านนา สามารถสร้างตราสัญลักษณ์ “นมคุณภาพสูงล้านนา” มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 243 ราย และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 4 ราย สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร 204,000 บาท/ฟาร์ม/ปี อีกทั้งยังได้รับรางวัลดีเด่น (รางวัลเลิศรัฐ) ในสาขาการบริการภาครัฐจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในปี 2560

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายในการจัดทำแปลงใหญ่โคนม เพื่อผลิตฝูงโคนมทดแทน มีการผลิตแปลงหญ้าหรืออาหารสัตว์แบบผสม (TMR) เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อสร้างแบรนด์ (Branding) และสร้างมูลค่าเพิ่มของนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อรองรับการค้าเสรี (FTA) ในอนาคต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมกิจการของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ พบว่า ผู้ประกอบการ ฟาร์มโคนมมีความสามารถที่จะผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถนำของเสียภายในฟาร์มมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษ และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยการลดต้นทุนจากการใช้พลังงานทดแทน โดยโค 2,000 ตัว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 1,700 ลบ.ม/วัน ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2,550 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน รวมทั้งนำไปทำก๊าซไบโอมีเทนอัด แทนก๊าซ NGV ได้ 200 กิโลกรัม/วัน

นอกจากนี้ กากมูลโคยังสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับแปลงพืชอาหารสัตว์และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งเป็นผลการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฟาร์มโคนมของบริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ยังเป็นฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินการตั้งแต่การเลี้ยง การรีดนม การควบคุมคุณภาพการผลิต ตลอดจนการตรวจสอบย้อนกลับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...