ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ดีอี เปิดเวทีเสวนากิจการดาวเทียม กระตุ้นการลงทุน รองรับธุรกิจในอนาคต
20 ธ.ค. 2561

กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเวทีเสวนากิจการดาวเทียมในยุค Disruption และธุรกิจรูปแบบใหม่ สอดรับนโยบายให้ดาวเทียมต่างชาติเข้าตลาดไทยได้ หวังกระตุ้นการลงทุน รองรับธุรกิจในอนาคต

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังการประชุม เรื่อง กิจการดาวเทียมในยุค Disruption และธุรกิจรูปแบบใหม่ (The Changing Environment of Satellite Industry:  Disruption and New Business Model) ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้กิจการดาวเทียมยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสร้างบริการและโอกาสธุรกิจใหม่ๆ จากเดิมที่บริการส่วนใหญ่มาจากดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำ (Geostationary Satellite Orbit: GSO) ในปัจจุบัน แนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่การลงทุนในบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit: NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit: MEO) ที่มีขนาดเล็กและสามารถส่งขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง ดาวเทียมเหล่านี้สามารถให้บริการได้หลากหลาย เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก

 “ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ดาวเทียม NGSO สามารถให้บริการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตและข้อมูลแบบความเร็วสูง (Low Latency) ซึ่งทำให้ภาคพื้นดินสามารถรับสัญญาณได้ในเวลาต่ำกว่าเสี้ยววินาที การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วในระดับที่ไม่มีดาวเทียมสมัยก่อนทำได้ ดาวเทียม NGSO จึงเป็นเครื่องมือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องใช้การรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อาทิ ยานยนต์ไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) การส่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในที่ทุรกันดารเพื่อให้คนที่อยู่นอกเมืองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโดรนสำรวจในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เป็นต้น”

ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลเตรียมพร้อมรับแนวโน้มใหม่นี้ และล่าสุดคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ผ่านความเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit : GSO) ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีนโยบายที่กำหนดแนวทางในการรักษาตำแหน่งวงโคจรและข่ายงานดาวเทียมของประเทศที่ชัดเจน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 ที่กำหนดให้ รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

และเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Right) เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายอนุญาตให้ใช้งานดาวเทียมต่างชาติในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ประกอบการและผู้ใช้งานดาวเทียมสื่อสารมีความต้องการใช้งานดาวเทียมต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้คือ รอนำเสนอเข้า ครม. และรับมติมาดำเนินการต่อโดยออกเป็นประกาศหรือเป็นนโยบาย

“ดาวเทียมไทยคมที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2564 เราต้องมีนโยบายต่อไปว่าจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร เพราะเราต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่เตรียมการไว้อาจประสบปัญหาไม่ได้รับการบริการ จึงต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 2 ส่วน คือ เรื่องทรัพย์สินจากสัมปทานที่สิ้นสุดลงและโอนมาเป็นของกระทรวงฯ ต้องมีการดำเนินการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาให้บริการต่อ โดยอาจเป็นในรูปแบบของ PPP ขณะที่ในส่วนของรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร และพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ ต้องเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตให้บริการจาก กสทช. โดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กสทช. ทุกอย่าง”

ด้านนาย Jan Schmidt หัวหน้ากลุ่มธุรกิจอวกาศ บริษัท Swiss Re Corporate Solutions จำกัด กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันยังมีคนอีก 3.5 พันล้านคนทั่วโลก ที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ขณะที่มีการประมาณการณ์ว่า ถ้าประเทศใดสามารถทำให้ประชากรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น 10%  จะสร้างการเติบโตให้กับจีดีพีของประเทศอีก 1.5%

“นโยบายเปิดเสรีตลาดดาวเทียมของประเทศไทยมีความสำคัญกับประเทศ เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านดาวเทียม เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คนทั่วทุกส่วนของประเทศที่สายไฟเบอร์ออฟติกเข้าไม่ถึง สามารถเชื่อมต่อกับทั้งโลกด้วยอินเทอร์เน็ต เข้าถึงการศึกษา การเกษตรเชิงพยากรณ์ บริการสาธารณสุข และโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น อีกทั้งกฎหมายที่เปิดกว้าง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และเร่งความเร็วในการบรรลุนโยบายไทยแลนด์ 4.0”

รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับประเด็นเรื่องนโยบายความถี่ (Spectrum) ที่ประเทศใหญ่ๆ ของโลกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เริ่มมีการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5G ที่จะเป็นตัวขับดันเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอันใกล้

นายศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด สนับสนุนนโยบายเปิดเสรีตลาดดาวเทียมของรัฐบาล แต่ควรมีเงื่อนไขที่ต้องไม่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเพียงผู้ซื้อเทคโนโลยี และมองแนวโน้ม 2-3  ปีข้างหน้าว่า จะมีดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (MEO) จากต่างประเทศเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในไทยก็อาจเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้สร้างดาวเทียม หรือผู้ให้บริการจากต่างชาติ เพื่อดูแลบริการตลาดประเทศไทย

นายภาคย์ บุญยุบล หัวหน้าส่วนงานวิศวกรรมดาวเทียมและปฏิบัติการ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจให้บริการดาวเทียมเผชิญแรงกดดันจากเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ดังนั้น แม้ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในไทย ก็ยังต้องเริ่มมองถึงการขยายธุรกิจนอกเหนือไปจากธุรกิจหลักเดิม อีกทั้งเพื่อรองรับสัมปทานที่จะสิ้นสุดลงในปี 2564

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...