ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง120วันอันตราย สัญญาณความเสี่ยงไม่เพียงเกษตรกร
18 มี.ค. 2559

          ปัญหาภัยแล้งสำหรับประเทศไทยนั้นไม่น่าจะใช่ปัญหาใหม่แต่ที่น่าจะนับเป็นปัญหาใหม่ก็คือ พื้นที่ที่ประสบปัญหาปัจจุบันได้ลุกลามขยายวงกว้างยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานคือพื้นที่ที่เรารับรู้กันดีว่าเป็นพื้นที่แล้งมากที่สุดในประเทศไทย หรือจะเรียกว่าเป็นภาคที่กันดาที่สุดนั่นเอง

          หากแต่ที่ผ่านมาหลายปีกลับพบว่า ไม่เพียงภาคตะวันออกเฉียงเท่านั้นที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนน้ำ อาจพูดได้ว่าปัญหาภัยแล้งนั้นส่งผลกระทบต่อโลกทั้งโลกเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะประเทศไทยนับตั้งแต่มหาอุทกภัยเมื่อปี2554 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าปัญหาภัยแล้งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งด้านอุปโภคและบริโภค การทำเกษตรกรรม การดื่มกินและใช้สำหรับชีวิตประจำวัน

          แม้ผู้เชียวชาญจะออกมาบอกว่า ภาวะเอลนีโญ่เริ่มทุเลาเบาลงลงไปบ้างนับตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันนอกจากยังไม่หมดฤทธิ์เดชลงแล้วแต่ยังทำท่าว่าจะเล่นงานพืชผลการเกษตรเสียหายในระดับทั่วทั้งโลก

          และในห้วงระยะเวลาดังกล่าวตามข้อมูลจากแบบจำลองภูมิอากาศตามที่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ  นำมาอ้างอิงว่ากันว่า แทบไม่เห็นเค้าว่าจะมีฝนตกลงมาเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเอาเข้าจริงฝนจะเริ่มไปตกอีกทีก็ต้องยืดเวลาไปถึงช่วงเดือนสิงหาคมกันเลยทีเดียว และนับจากมีนาคมนี้ไปจนถึงมิถุนายนอาจถือได้ว่าเป็นช่วง120วันอันตรายที่ต้องเตือนกันว่าประเทศไทยจะเจอวิกฤติขาดแคลนน้ำอย่างหนัก โดยเสียงเตือนนี้ถูกรองรับด้วยเหตุผลจากปริมาณน้ำในเขื่อนขณะนี้

          สำหรับเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้การได้อยู่ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์  เขื่อนสิริกิติ์ 23 เปอร์เซ็นต์  เขื่อนแควน้อยฯ 33 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนป่าสักฯ 42 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับระดับ รวมทั้งเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แหล่งน้ำดิบผลิตประปาเชียงใหม่ก็เหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ซึ่งอยู่ในวิกฤตน้ำใกล้ถึงก้นเขื่อน

          และนี่คือน้ำในเขื่อนหลักๆแต่ละเขื่อน ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าค่อนข้างจะเหือดแห้งเหลือปริมาณน้อยอย่างน่าวิตกกังวลพอสมควร และส่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคงไม่ใช่มีต่อชาวไร่ ชาวนาเท่านั้นหากแต่ประชาชนคนในเมืองก็อาจต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ด้วย

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมายอมรับถึงสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯมีแผนเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศแล้ว โดยได้สำรวจพบพื้นที่ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วง 3 เดือนนี้จำนวนทั้งสิ้น 391 อำเภอทั่วประเทศ และได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับการทำเกษตรนั้นไม่สามารถส่งน้ำได้เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนจำกัดและยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจึงจำเป็นต้องรักษาปริมาณน้ำไว้ใช้ได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559

          ส่วนสถานการณ์น้ำมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งนอกและในเขตชลประทาน18,613 ล้านลบ.ม. ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ 15,487 ล้านลบ.ม.  ฉะนั้นประชาชนอาจไม่ต้องห่วงว่าจะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เพราะได้เตรียมแหล่งน้ำไว้แล้วจากบ่อบาดาล และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำจากทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทุกพื้นที่ โดยเริ่มจากวันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้น้ำประหยัดอย่างจริงจัง

          ด้านการช่วยเหลือนั้นขณะนี้ได้ประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 12 จังหวัด 46 อำเภอ 216 ตำบล 1,893 หมู่บ้านได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน และยังมีพื้นที่ที่เสี่ยงใกล้วิกฤตภัยแล้งอีกจำนวน 28 จังหวัด ซึ่งได้มีการบูรณการจากทุกกระทรวง เร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการ 4 โครงการ กระทรวงการคลัง มี 3 โครงการ กระทรวงกลาโหม 1 โครงการ

          สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้นั้นได้คุกคามไปในหลายพื้นที่ไม่เฉพาะพื้นที่การเกษตร แม้แต่ในโรงพยาบาลและโรงเรียนก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวด้วย โดยนพ.สุริยา รัตนปริญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกประกาศถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอทั้ง23 แห่ง รวมถึงสาธารณสุขอำเภอทั้ง 23 อำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 227 แห่ง รวมกว่า 270 แห่ง ทั้งจังหวัดได้เก็บสำรองน้ำสะอาดไว้ให้เพียงพอสำหรับใช้ภายในโรงพยาบาล หรือสถานบริการด้านสาธารณสุขทุกแห่งด้วย

          ขณะที่นายสุพจน์ เจียมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดกว่า 200 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนอยู่ในความดูแลกว่า 36,000 คนได้เร่งสำรวจถังกักเก็บน้ำอุปโภคบริโภคภายในโรงเรียนในช่วงหน้าแล้ง หากพบปริมาณน้ำเหลือน้อยหรือสุ่มเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียงช่วยเหลือโดยด่วน

          ส่วนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันกล่าวถึงกระแสข่าวจะมีน้ำใช้ไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้ว่า ไม่เป็นความจริง โดยข้อมูลน้ำของกรมชลประทานมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งเป็นตัวเลขจริงที่ใช้สื่อสารกับประชาชน ไม่รวมน้ำตายหรือน้ำก้นเขื่อนที่มีตะกอน รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงพอไปจนสิ้นฤดูแล้ง ส่วนภาคการเกษตรนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจดีแล้วว่ามีน้ำไม่เพียงพอแต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ต้องการปลูกข้าวต่อไปโดยจะรับความเสี่ยงเอง

          “ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัย 46 อำเภอ 12 จังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถอนุมัติงบประมาณไปใช้ในระดับอำเภอและท้องถิ่น และขอรับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำหรือเครื่องสูบน้ำได้ ส่วนภาคการเกษตร ครม.ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. รวมกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 670,000 ราย ” โฆษกรัฐบาล กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...