ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
“เฉลิมชัย”ประกาศกร้าวช่วยสวนยาง เฟ้นมาตรการเสริม/เร่งหาตลาดใหม่
02 ก.ย. 2562

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมีการกำหนดราคาประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไปแล้วที่ 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ว่า ขั้นต่อไปกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าไรดำเนินโครงการ และมีระยะเวลาชดเชยรายได้อยู่ในช่วงใด โดยเบื้องต้น กำหนดพื้นที่ชดเชย 25 ไร่/ราย ทั้งนี้ เมื่อสรุปรายละเอียดโครงการแล้ว จึงจะรู้ว่าจะใช้เงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเท่าไร ซึ่งเงินชดเชยที่รัฐบาลจะจ่ายให้เกษตรกร กรณีที่ขายยางพาราได้ต่ำกว่าราคา 60 บาท/กก. จะจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายเฉลิมชัย ยังกล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาด้วยว่า “เมื่อครั้งทำโครงการประกันราคาข้าว มีปัญหาคนทำนาตัวจริงไม่ได้เงิน สิ่งที่ต้องอุดช่องว่างคือ ต้องหาวิธีที่ชาวสวนยางตัวจริงจะต้องได้รับเงินจากการทำสวน แม้จะเช่าที่ก็ตาม ส่วนคนกรีดยางกับเจ้าของสวน ต้องไปตกลงกันเองว่า เมื่อมีเงินชดเชย ชาวสวนจะได้เท่าไหร่ คนกรีดจะได้เท่าไหร่ ส่วนคนให้เช่าที่ หรือนายทุนจะได้ค่าเช่าที่อยู่แล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ก็ให้มาดำเนินการได้”

นอกจากนี้ จะมีมาตรการเสริมอื่นๆ อีก ทั้งจัดทัพการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ใหม่, หาตลาดใหม่ เช่น จีน อินเดีย, เร่งรัด 9 โครงการของ กยท.ที่ดำเนินการอยู่ เช่น โครงการควบคุมปริมาณการผลิตปี 2558-2564 โดยการโค่น 2.19 ล้านไร่ ปลูกทดแทน 2.15 ล้านไร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายเฉลิมชัย พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยกทีมหารือเรื่องมาตรการประกันรายได้ชาวสวนยาง ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งนอกจากเรื่องของการประกันรายได้ที่จะเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้นแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้สั่งการให้ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการอื่นๆ อีก เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาว โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลให้น้อยที่สุด อีกทั้งมุ่งหวังให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางของการกำหนดราคายางโลกอีกครั้ง

โดยนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ อาทิ กระทรวงคมนาคม มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น แผงกั้นจราจร (Barrier) ทำให้สามารถผลักดันยางพาราจำนวน 800,000 ตันออกตลาดได้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทานนำผลผลิตยางพารามาพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน อาทิ บล็อกผักตบชวา ฝายยางพารา โดยจะมุ่งเน้นแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการระบายยางออกจากตลาดให้ได้มากที่สุด

 “เชื่อมั่นว่า หากได้ดำเนินการตามมาตรการที่ได้หารือกันนั้น จะมียางออกจากตลาดเกินกว่า 1 ล้านตัน และยางในประเทศจะขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งแนวทางเช่นนี้อาจไม่จำเป็นต้องนำมาตรการประกันรายได้มาเสริมอีก อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งต่อไป กยท.จะนำเสนอมาตรการต่างๆ ที่หารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็ง และเป็นกลไกในการสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาวต่อไป” นายธนา กล่าว

ขณะที่ นายเฉลิมชัย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมฉลุง (Rubber City) จ.สงขลา ด้วยว่า ได้ลงพื้นที่ดูการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพารา โดยมีการดูรูปแบบการแปรรูปและได้มีการหารือร่วมกับนายสุนันท์ นวลพรหมสกุลรักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ถึงการประชาสัมพันธ์สินค้า เพื่อกระตุ้นให้กับประชาชนและภาคเอกชนที่มีความต้องการที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ให้ได้มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสิ่งที่สำคัญคือได้ช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะทำให้ภาครัฐไม่ต้องนำเงินมาชดเชยในส่วนนี้มากจนเกินไป

โดยหลังจากนี้ต้องให้ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประสานงานกับสหกรณ์ทั่วประเทศที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงภาคเอกชนด้วย ซึ่งวันนี้ทุกภาคส่วนต้องมาทำงานร่วมกัน และขยายตลาดให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย เพราะผลิตภัณฑ์ยางสามารถนำออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการประสานงานระหว่างกลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มมูลค่าของยางพารา อีกทั้งยังเป็นการช่วยพี่น้องเกษตรกรได้อีกด้วย

ทั้งนี้ จะมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและ กยท. หารือกันถึงวิธีการที่จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ เพิ่มผลผลิต ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด อีกทั้งยังต้องยกคุณภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไปด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...