ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
นวัตกรรมป้องกันยุงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คว้ารางวัลดีเด่นรางวัลเลิศรัฐปี 62
27 ก.ย. 2562

           กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทนวัตกรรมการบริการระดับดีเด่น จากผลงาน "RepelMos : สมุนไพร-ไออาร์ นวัตกรรมป้องกันยุงมุ่งพิทักษ์สุขภาพประชาชน" สามารถป้องกันยุงทุกชนิด ริ้นและทากได้ 5-7 ชั่วโมง และสามารถใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบได้ ขณะที่โลชั่นกันยุงส่วนใหญ่ใช้ในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนผลิตเชิงพาณิชย์

              นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ.2562 “Shift to the future : ภาครัฐปรับ อนาคตเปลี่ยน” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล ณ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น จากผลงาน"RepelMos : สมุนไพร-ไออาร์ นวัตกรรมป้องกันยุงมุ่งพิทักษ์สุขภาพประชาชน" เป็นนวัตกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาเพื่อนำมาช่วยแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าและโรคที่นำโดยยุง สามารถใช้ได้ทุกคนโดยเฉพาะหญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงปัจจุบันส่วนใหญ่ผลิตจากสารออกฤทธิ์ที่เป็น deet ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหรและยา (อย.) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ

              นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนา RepelMos : สมุนไพร-ไออาร์ ได้นำเนินการตามนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ในการนำสมุนไพรมาเพิ่มคุณค่าโดยทำให้ป้องกันการกัดของยุงและแมลงอื่นได้ โดยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรร่วมกับสารสังเคราะห์เลียนแบบ อมิโนแอซิดในธรรมชาติ (IR3535) และสารช่วยปรับกลิ่น มีประสิทธิภาพดีสามารถป้องกันการกัดของยุงทุกชนิด ริ้น และทากได้นาน 5-7 ชั่วโมง ขณะนี้มีแผนในการทำบันทึกความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไปสู่เชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อได้ผู้รับไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้วจะมีการนำผลิตภัณฑ์นี้ไปจดทะเบียนนวัตกรรมไทย เมื่อสำนักงบประมาณบรรจุในบัญชีนวัตกรรมไทยซึ่งจะทำให้หน่วยงานราชการสามารถจัดซื้อด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ เพื่อนำไปป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา ไข้ซิกาและมาลาเรียรวมทั้งพื้นที่ซึ่งมีปัญหาริ้นดำ ริ้นน้ำเค็มและทากชุกชุมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่างๆได้

                 “การพัฒนาโลชั่นกันยุงรีเพลมอส เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคที่นำโดยยุง  คณะผู้วิจัยได้ร่วมมือกันโดยไม่ได้ขอทุนและใช้ทุนส่วนตัว เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับมอบให้ประชาชนในพื้นทีเสี่ยงที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ เมื่อได้ผลผลิตที่ดีจากการวิจัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงให้งบประมาณในการผลิตโลชั่น    รีเพลมอสนำไปสนับสนุนการป้องกันโรคในช่วงโรคระบาด หรือช่วงน้ำท่วม ซึ่งล่าสุดได้ผลิตโลชั่นกันยุงรีเพลมอส จำนวน 2,000 ซองไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุโพดุล”นายแพทย์โอภาสกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...