ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
07 ต.ค. 2562

 

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  แนะประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  หากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ ส่วนเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แล้วฉีดซ้ำทุกปี

            วันนี้ (4 ตุลาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่พบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ที่จังหวัดนนทบุรี นั้น ทางกรมปศุสัตว์ ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ซึ่งทางกรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่และขอย้ำเตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนและไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง

            โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือ สุนัข ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากได้รับเชื้อจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค และอย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันที

            นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ควรปฎิบัติดังนี้ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว  ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี  2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง  3. พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัขหรือแมวที่ไม่มีเจ้าของ และ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ  1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ  2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

            กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าหากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผล   ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดหลายๆครั้ง อย่างน้อย 10 นาที ใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผล และห้ามปิดแผลโดยเด็ดขาด กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวทาง/มาตรฐาน ฉีดวัคซีนให้ครบ ครบทุกเข็ม เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...