ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กระทรวงพลังงานระดมสมองผุดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน เฟสแรก 250 แห่ง
09 ต.ค. 2562

 กระทรวงพลังงานเปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดึงทุกภาคส่วนร่วมแชร์ไอเดียเดินหน้า สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน  เพื่อเศรษฐกิจฐานรากมุ่งส่งเสริมพืชพลังงานสร้างรายได้เกษตรกร วางเกณฑ์ร่วมลงทุนให้ชุมชนมีส่วนถือหุ้นโดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง เพื่อเสริมระบบความมั่นคงพลังงานของประเทศ คาดเฟสแรกจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนราว 250 แห่ง ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโครงการนำร่องในรูปแบบ Quick Win ราว 10-20 โครงการที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในครึ่งแรกของปี 63

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะสามารถสรุปหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนภายใน 1 เดือน หลังจากที่วันนี้ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงรูปแบบให้มีความเหมาะสม จากโมเดลทั้ง 7 รูปแบบ โดยคาดว่าเฟสแรกจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนราว 250 แห่ง ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโครงการนำร่องในรูปแบบ Quick Win ราว 10-20 โครงการที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในครึ่งแรกของปี 63

สำหรับสัดส่วนการเข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าของชุมชนจะอยู่ในช่วง 10-30% ขณะที่ชุมชนจะมีรายได้จากการจัดหาเชื้อเพลิง และส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับระบบไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ที่เบื้องต้นมองไว้ที่ 25 สตางค์/หน่วย แต่ยังไม่ได้กำหนดตายตัว โดยยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบนั้นจะต้องเป็นปริมาณที่เหลือใช้จากในชุมชน หลังจากการระดมความคิดเห็นในวันนี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็จะเป็นผู้กำหนดรูปแบบหลักเกณฑ์เพื่อนำไปสู่ทางปฏิบัติต่อไป

ขั้นตอนของโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องระบุพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้าพร้อมปริมาณที่ต้องการ ,ชุมชนเสนอความพร้อมของพื้นที่ที่จะก่อสร้าง ทั้งในส่วนของที่ดิน และเชื้อเพลิง ,คัดเลือกและประกาศรายชื่อชุมชนที่ผ่านการพิจารณา โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ภาคเอกชนลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน เสนอความพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งด้านเทคนิค และแหล่งเงินทุน รวมถึงด้านราคา, คัดเลือกและประกาศผลเอกชนที่ได้สิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน, ขอใบอนุญาตและก่อสร้างโรงไฟฟ้า และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดโครงการโดยเร็ว จะมีโครงการนำร่องในรูปแบบโครงการ Quick Win สำหรับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วหรือใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงเป็นโครงการที่ภาครัฐเคยให้การสนับสนุนเงินทุนบางส่วนมาแล้ว แต่ติดขัดปัญหาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ก็ให้เอกชนสามารถเสนอโครงการเข้ามาให้พิจารณาได้ก่อนเพื่อให้เป็นต้นแบบสามารถขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนได้ต่อไป โดยรูปแบบการดำเนินการของแต่ละแห่งไม่ได้กำหนดตายตัวตามหลักเกณฑ์ อาจจะแตกต่างกันได้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่ต้องดูถึงศักยภาพของเชื้อเพลิง และความพร้อมของสายส่งไฟฟ้า

ขณะที่ พพ.เปิดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ โดยเอกชนลงทุนก่อนทั้งหมดเมื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นบุริมสิทธิในสัดส่วน 10% ส่วนเอกชน ซึ่งอาจจะร่วมกับภาครัฐ คือบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะถือหุ้น 90% โดยชุมชนเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าในราคาประกัน ขณะที่ชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้อย่างน้อย 25 สตางค์/หน่วย เพื่อนำรายได้เข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน จากการขายไฟฟ้าที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตรา FiT

ทั้งนี้  7 รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนตามข้อเสนอของ พพ. ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 2.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์ 3.โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล 4.โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ 5.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ 7. โรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...