ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สธ เร่ง ดูค่าตอบแทน “หมออนามัย”วอนเลิกชุมนุม
23 มี.ค. 2559

          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่ากรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ ขึ้นป้ายวอนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ยอมรับว่าเรื่องค่าตอบแทนมีปัญหาอยู่จริง ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้ใช้ค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 ตามที่ ครม.ได้ประกาศ ที่มีระยะเวลา 2 ปี และจะหมดอายุลงในเดือนกันยายนนี้

          โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2560 นี้ โดยเรื่องนี้ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยในประชุมร่วมกันทุกวันศุกร์สิ้นเดือน ที่มีตัวแทนวิชาชีพและชมรมต่างๆ ใน สธ.เข้าร่วม ซึ่งรวมถึง ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) ที่มี นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.และ นายริซกี สาร๊ะ ผู้ประสานงานชมรม ผอ.รพ.สต เข้าร่วม ทั้งนี้ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตนได้แจ้งถึงการจัดทำค่าตอบแทนฉบับใหม่ เป็นไปตามที่ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ยึดหลักการคือ คนที่ได้ค่าตอบแทนเยอะเราคงไม่ไปแตะ แต่จะไปเพิ่มค่าตอบแทนให้กับคนที่ได้น้อยแทน

          “ ที่ประชุมร่วมกันมาไม่มีความหมายใช่หรือไม่ ซึ่งต้องถามว่าแล้วทำไมชมรมอื่นที่มาร่วมพูดคุยแล้วเข้าใจกันได้ อีกทั้งในการประชุมก็ถือเป็นข้อตกลงสุภาพบุรุษร่วมกัน แต่กลับไปขึ้นป้าย แทนที่ในฐานะตัวแทนจะเป็นผู้ไปบอกและชี้แจงกับน้องๆ รพ.สต.ถึงผลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างค่าตอบแทนฉบับใหม่อยู่ และจะมีการทำประชาพิจารณาหลังจากนี้ การออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ ไม่รู้ว่าเรียกร้องอะไร ต้องการอะไร และอยากให้เกิดอะไรขึ้น แต่ขอเรียกร้องให้ทุกชมรม ทุกคนมาช่วยกันแก้ปัญหา อย่าสร้างปัญหา”

          นายริซกี เปิดเผยว่า  หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนมีความไม่เป็นธรรม 3 ประเด็นดังนี้

   1.การนิยามพื้นที่กันดาร ในการกำหนดหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร หลักเกณฑ์ของ สธ.กำหนดหน่วยบริการเฉพาะโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งที่ รพ.สต.ตั้งอยู่ในระดับตำบลมีความกันดารและห่างไกลกว่า และ รพ.สต.ส่วนใหญ่อยู่ตามตำบลหมู่บ้าน บางพื้นที่เป็นดงดอย ป่าเขา หรือชายแดน ทั้งนี้ในเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาความกันดารของ รพช.จะดูจากความเจริญ เช่น มีธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหากเทียบใน รพ.สต.ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลหมู่บ้านส่วนใหญ่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย แต่เหตุใด รพ.สต.จึงไม่จัดอยู่ในพื้นที่กันดาร

   2.เรื่องการแบ่งช่วงอายุราชการ/อายุการทำงานบุคลากรใน รพ.สต.ถูกกำหนดให้มีเพียง 2 ระดับ (1-3 ปี กับ 4 ปีขึ้นไป) แต่หลายวิชาชีพกลับแบ่งเป็น 3 ระดับ (1-3 ปี, 4-10 ปี และ 10 ปีขึ้นไป) ส่งผลให้ค่าตอบแทนแตกต่างกันด้วย เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข อายุการทำงาน 1-3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 600 บาท อายุการทำงาน 4 ปีขึ้นไป ได้รับ 900 บาท และได้รับในระดับนี้ทุกคน แม้จะอยู่ในพื้นที่ปกติหรือกันดารก็ตาม

   แต่หากเทียบกับวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ ทันต์แพทย์ในพื้นที่ปกติ ที่มีอายุงาน 1-3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท อายุงาน 4-10 ปี ได้รับ 12,000 บาท และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับ 15,000 บาท และยิ่งทำงานในพื้นที่กันดาร ก็จะได้รับค่าตอบแทนสูงสุดถึง 60,000 บาท ซึ่งกลับกลายเป็นว่า มีค่าตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือนเสียอีก ทั้งที่โดยหลักแล้วทุกวิชาชีพควรจะมีเงินเดือนเป็นรายได้หลักในการดำรงชีพ

   3.การกำหนดค่า activity based มีความหลากหลาย เหลื่อมล้ำสูง ทั้งนี้การให้ค่าตอบแทนตามภาระงานหรือพีฟอร์พี ในโรงพยาบาลพบว่ามีหลักเกณฑ์ต่างกัน ค่ากิจกรรมต่างกันในแต่ละวิชาชีพ เช่น บางวิชาชีพ คิด activity base ยิบย่อย  ทั้ง FTE และ pop ratio  มาคำนวณเป็นค่างาน/ภาระงาน แต่ รพ.สต.กลับใช้แค่ pop ratio เท่านั้นมาคำนวณค่าตอบแทน  และค่า activity based บางวิชาชีพมีค่าเท่ากับ 1 หรือ 2 แต่ในหลายๆ วิชาชีพกลับให้ค่าภาระงานด้วย 0.1 หรือ 0.05 เท่านั้น ทำให้หากมีปริมาณภาระงานที่เท่ากับคือ 1,000 ชิ้น บางวิชาชีพจะได้ค่าตอบแทนแค่ 50-100 แต้ม แต่บางวิชาชีพกลับได้ 1,000-2,000 แต้ม ในภาระงานที่เท่ากัน เมื่อนำไปคูณค่าตอบแทน P4P จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก

   “การที่หมออนามัยเรียกร้อง ไม่ได้ต้องการสร้างความแตกแยกระหว่างวิชาชีพ แต่อยากให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี บุคลากรมากกว่า 20 วิชาชีพ ควรใช้หลักการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล ควรใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพให้น้อยลง และค่าตอบแทนโดยหลักการไม่ควรได้มากกว่าเงินเดือน แต่ปัจจุบันบางวิชาชีพได้ค่าตอบแทนหลักหมื่นสูงกว่าเงินเดือนหลายเท่า ในขณะที่หมออนามัยส่วนใหญ่ทำงานมานานจนเกือบเกษียณยังได้แค่หลักร้อยบาทเท่านั้น”  

   นายริซกี เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนมีความเหลื่อมล้ำ สธ.ควรดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ใน 3 ประเด็นเป็นเบื้องต้น ได้แก่

     1.ปรับปรุงนิยามหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร ให้รวมถึง รพ.สต.และครอบคลุมทุกวิชาชีพด้วย

     2.เพิ่มอายุการทำงานให้มี 3 ระดับเหมือนกันทุกวิชาชีพ

     และ 3.การคิดค่าภาระงานในแต่ละวิชาชีพควรมีความเป็นธรรมและใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการคิด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...