ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กปร.ยึดแนวพระราชดำริลงแรงแหล่งน้ำลดรายจ่ายฯช่วยภัยแล้ง
18 เม.ย. 2559

          แม้จะมีสิ่งบ่งชี้บางอย่างบอกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ขณะเดียวก็ปรากฏให้เห็นและรับรู้ด้วยว่าบางพื้นที่ก็ยังคงเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติประเภทนี้อย่างหนักหนาสาหัส ซึ่งสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่าวนรับผิดชอบโดยตรงอย่างภาครัฐก็เร่งให้การช่วยเหลือ กระทั่งหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ หรือกปร.ก็ได้ยื่นมือออกมาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานนี้ได้ช่วยเหลืออะไร อย่างไรบ้างนั้นรองเลขาฯกปร.ประสาท พาศิริ ได้บอกกล่าวผ่านอปท.นิวส์ให้เห็นรูปธรรมและทิศทางนับจากนี้

อปท.นิวส์ - อยากให้เล่าถึงโครงการของกปร.ที่ทำทั้งหมด?

รองเลขาฯกปร. - ถ้าให้โยงกับเรื่องภัยแล้งก็คือรัฐบาลนายกฯพลเอกประยุทธ์ มีนโยบายขับเคลื่อนการทำงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้มอบหมายให้สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีจัดทำแผนยุทธศาสตร์บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนา คือเรื่องนี้ทำกันมานานแล้วแต่ต่างคนต่างทำหรือไม่ ท่านอาจมองปัญหาอย่างนั้นก็เลยอยากให้มีการบูรณาการ

          การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่มิติใดมิติหนึ่ง ไม่ใช่เศรษฐกิจเท่านั้นยังมีเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อมต่างๆ ความสำเร็จของเศรษฐกิจพอเพียงมันไม่ใช่อยู่ได้ด้วยเรื่องเศรษฐกิจโดดๆมันมีมิติของวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมสังคมเข้าไปด้วย มันต้องบูรณาการหลายๆด้าน ฉะนั้นตามยุทธศาสตร์อันนี้ประกอบไปด้วย 7ด้าน คือ 1ด้านเกษตรและชนบท ซึ่งสำนักกปร.เป็นเจ้าภาพหลัก  2การศึกษา 3การต่างประเทศ  4เรื่องธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย การท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ  5ความสัมพันธ์ 6ความมั่นคง และ7การบริหารจัดการ 

          เฉพาะเรื่องเกษตรและชนบทกปร.ก็ไม่ได้ทำคนเดียว มันมี3หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานกองทุนการวิจัย สถาบันพัฒนาและส่งเสริมปิดทองหลังพระ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯพวกที่ทำงานในการพัฒนาชนบทก็มีบทเรียนทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เราก็เอาบทเรียนเหล่านั้นมารวบรวมแล้วเขียนเป็นแผนยุทธศาสตร์แนวทาง ตรวจชี้วัด การดำเนินการต่างๆ

          แนวทางหลักที่ใช้ขับเคลื่อนการเกษตรนั้นหลากหลาย ซึ่งเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาเชิงพื้นที่โดยเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งไม่ใช่เอาเรื่องของหน่วยงานเป็นตัวหลัก เอาเรื่องของพื้นที่ ความต้องการของปัญหา และต้องบูรณาการหลายๆหน่วยงาน โดยมีหลักแนวคิดการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนจากเล็กไปหาใหญ่ จากครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน ภูมิภาค ระดับประเทศ สุดท้ายคือการจัดความรู้เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนา อันไหนสำเร็จก็เป็นตัวอย่าง

          เพราะฉะนั้นแนวความคิดหลักจะมี5ประการ เอาจากประสบการณ์เรามีหมู่บ้าน 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านทั่วประทศ เราคิดว่าน่าจะทำสัก 25 เปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 19,000 หมู่บ้าน เราคัดเลือกหมู่บ้านที่เคยมีประสบการณ์พัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบ้างแล้วก็รวบรวมได้ประมาณ 24,000 ก็เลยคิดว่า 24,000 หมู่บ้านก็น่าจะเป็นเป้าหมายได้

          ทีนี้ 24,000 หมู่บ้านก็ไม่ไกด้หมายความว่าต้องทำทุกหมู่บ้าน ความต้องการสำคัญที่สุด ความพร้อมของชาวบ้านความต้องการ ถ้าเขาไม่ต้องการไม่มีความพร้อมก็ไม่ทำ และเราจะมีคู่มือของการดำเนินงานแจกไปถึงอำเภอ จังหวัด  ตำบล หมู่บ้าน 8 หมื่นกว่าเล่มเพื่อให้เข้าใจร่วมกัน มีการประชุมชี้แจงทางทีวี เนื่องจากระยะเวลามันสั้น ตามแผนยุทธศาสตร์นี้จะหมดปี60 มันเริ่มปลายปี57 

          ปี58 เป็นเรื่องของการเตรียมการ เราคิดกระบวนการขั้นตอนก็ใช้เวลาเป็นปีแล้ว ฉะนั้นการดำเนินการเริ่มปี 59ไปถึงปี60 ก็มองในสองปีที่เหลือมันมีอะไรสำคัญเร่งด่วน มันก็มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง เพราะเรารู้อยู่ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งในปีสองปี เพราะฉะนั้นเราจึงมี 2 เรื่องในระยะสองปี คือเรื่องแก้ปัญหาแหล่งน้ำ แหล่งน้ำนี่ไม่ได้หมายความว่าสร้างใหม่ คือของเก่าที่มีอยู่แล้วใช้เต็มประสิมธิภาพหรือยัง มีปัญหาอะไรหรือไม่ เราเน้นให้ชาวบ้านลงแรงทำกันเองต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่หน่วยงานของเราไปทำ เราเอาความพร้อม ความสนใจของชาวบ้านเป็นหลัก สองรื่องการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ภาคเกษตรจะมีปัญหาเรื่องหนี้สินเยอะ เรื่องแหล่งน้ำไม่ใช่เฉพาะเรื่องอุปโภคบริโภคแต่มันเป็นเรื่องของแหล่งน้ำการเกษตรด้วย เราพัฒนาเรื่องอาชีพได้เรื่องแหล่งน้ำก็สำคัญ ต้องไปด้วยกันสองส่วน

           ในการดำเนินการเราเน้นเรื่องความยั่งยืนต้องการให้ชาวบ้านมีประสบการณ์ จัดเก็บ ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลจัดทำแผน ฟื้นฟูความเข้าใจ ข้อมูลที่สำคัญก็คือเรื่องของแหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ เราเน้นในเรื่องที่สำคัญคืออยากให้เกษตรกรใช้บัญชีครัวเรือนมันเป็นกลไกสำคัญให้เขารู้ปัญหาของตัวเขาอง ปัญหาของหมู่บ้าน ปัญหาของชุมชน เขาต้องคุยกันวิเคราะห์กันมีปัญหาอะไร หมู่บ้านมีปัญหาอะไร ชุมชนมีปัญหาอะไรควรจะแก้อย่างไร

          ชาวบ้านต้องวิเคราะห์จัดทำแผนมา เราก็กำหนดในช่วงมีนาเมษาจัดเก็บข้อมูล พฤษภาทำแผน เราจะเรียกร้องว่าแผนจะต้องประกอบด้วยสามส่วน หนึ่งอะไรที่เขาทำได้ก็ทำเลยไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐ สองที่มันเกินกำลังก็อาจจะต้องไปดู อปท.นี่แหละจะต้องเข้าไปดูมีบทบาทอย่างไรช่วยเหลืออย่างไร อาจสนับสนุนเรื่องงบ ชาวบ้านก็ลงแรงไป หรือชาวบ้านจะของบก็ได้ต้องผ่านแผนชุมชนต้องเสนอตามขั้นตอนจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งจังหวัดจะกลั่นกรองก่อนส่งมาที่กปร.

อปท.นิวส์ - ความสำเร็จ ความมุ่งหวังต่อโครงการที่เราช่วยชาวบ้านคืออะไร? 

 รองเลขากปร. - การช่วยชาวบ้านเป็นเรื่องเร่งด่วน ภัยแล้งถ้าเราทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ต้องไปสร้างใหม่ หรือที่มันขาดระบบก็ไปทำระบบให้มันเชื่อมโยงกับพื้นที่ไร่นาอันนี้เร่งด่วน แต่ปัญหาระยะยาวที่อยากจะทิ้งไว้คือให้ชาวบ้านมีประสบการณ์ วิธีคิดแก้ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำแผนช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่พึ่งพารัฐตลอด ที่ผ่านมาเกิดปัญหาอะไรก็รอรัฐ เรียกร้องเอาจากรัฐ อยากให้ชุมชนเข้มแข็งระเบิดจากข้างในความพร้อมของตนเอง เราไม่ได้คาดหวัง 24,000 หมู่บ้านจะสำเร็จหมด เราเพียงหวังว่าได้ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ก็พอใจแล้ว ที่ผ่านมามีแค่ 1,400 หมู่บ้านที่เข้มแข้งแล้วมันมีตัวบ่งชี้คือผู้นำ และความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านชุมชนจะเข้มแข็งไม่เข้มแข็งก็อยู่ที่ตรงนี้ เราทำไม่อยากสั่งการอยากให้เป็นความต้องการของเขาเอง เขาไม่สนใจต้องการ ก็ไม่จำเป้นต้องไปบังคับให้เสนอโครงการขึ้นมา

อปท.นิวส์ - ตัวโครงการนี้มันลงไปจากข้างบนหรือข้างล่างเสนอขึ้นมา?

รองเลขากปร. - เราให้ข้างล่างทำขึ้นมา กรอบก็คือเรื่องแหล่งน้ำ และอาชีพลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ก็มีสองเรื่องจากกรอบที่เขาต้องเสนอขึ้นมา

อปท.นิวส์ เรื่องผู้นำก็ให้เขาไปหากันเอง?

รองเลขากปร. - ผู้นำมันมีอยู่แล้วตามชุมชน หมู่บ้าน ผู้นำโดยตำแหน่งอำนาจหน้าที่มันก็มีอยู่แล้ว ผู้นำตามธรรมชาติก็มีอยู่แล้วแต่ถ้ามันเป็นคนๆเดียวกันมันค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ

อปท.นิวส์ - ประโยชน์ในสิ่งที่เราทำไป ชาวบ้านได้อะไรบ้างนอกจากได้ช่วยเหลือตัวเองเป็นแล้ว?

รองเลขากปร. - ก็วิธีคิด นอกจากโครงการที่จะได้มาเรื่องแหล่งน้ำ  อาชีพ ก็อยากทิ้งวิธีคิดให้ชาวบ้านไว้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะพวกข้าราชการมาแล้วก็ไป โดยเฉพาะข้าราชการอำเภอ เปลี่ยนกันบ่อย อยู่ไม่ทันไรก็เปลี่ยน ชาวบ้านเขาอยู่ตรงนั้นเขาควรจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะไปหวังให้ราชการมาอยู่ตลอด ข้าราชการที่ดีก็มี ที่ไม่ทุ่มเทก็มี

อปท.นิวส์ - ที่ทำอยู่ ปัญหาที่เจอมากที่สุดคืออะไร?

รองเลขากปร. - รื่องการสั่งการ ชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญ ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ ที่ผ่านมามันเป็นนโยบายประชานิยมที่ลงไป ชาวบ้านมองไม่เห็นว่ามันมีโทษ หรือมีคุณอย่างไร และนโยบายที่เราสั่งการลงไปแล้วข้าราชการไปแปลความ แล้วก็สั่งการกันมันก็เลยเพี้ยน ชาวบ้านก็รอว่าเขาจะสั่งอะไรไม่สร้างความยั่งยืน เราอยากให้ชาวบ้านคิดเองทำเอง

อปท.นิวส์ การทำงานดูเหมือนจังหวัดจะเป็นตัวเชื่อม?

รองเลขากปร. - อยากให้จังหวัดเป็นตัวประสาน ตัวบูรณาการระดับพื้นที่ ตรงนั้นที่สำคัญที่สุด อปท.เองก็มีส่วนร่วมตรงระดับนั้นเข้าถึงชาวบ้านได้มาก อปท.ถือเป็นกลไกสำคัญอยากให้มีบทบาทมีส่วนร่วม

อปท.นิวส์ - กปร.มีศูนย์การศึกษาด้วยเป็นอย่างไร?

รองเลขากปร. - เรามีศูนย์การศึกษา 6 แห่ง คือมันเหมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ ชาวบ้านถ้าอยากหาความรู้ ต้องการอบรมอะไร ทางศูนย์ศึกษาก็จะสนับสนุน ที่จริงเราไม่ได้ให้เฉพาะชาวบ้านที่เปลี่ยนวิธีคิด ข้าราชการก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเหมือนกัน เรามีหลักสูตรสองหลักสูตรที่เตรียมไว้ สำหรับผู้บริหารเรียกว่าผู้นำการขับเคลื่อนระดับรองผู้ว่าฯ อบต. อบจ. แล้วก็หลักสูตรที่สองสำหรับเครือข่ายระดับอำเภอ มาฝึกฝนเน้นเรื่องแหล่งน้ำ เก็บข้อมูลเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งการที่อยากให้ข้าราชการเปลี่ยนนั้นคือถ้าไม่เปลี่ยนตัวเอง ก็ไปทำงานกับชาวบ้านไม่ได้ ก็จะเห็นตัวเองเป็นนาย จะมองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ ในหลวงเคยรับสั่งว่าชาวบ้านเป็นครู เวลาไปทำงานกับชาวบ้านเป็นครู เขารู้เราต้องเรียนกับเขาด้วยอย่าไปมองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้

อปทนิวส์ - หัวใจของกปร.คืออะไร?

รองเลขากปร. - หัวใจของกปร.คือการทำงานสนองพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ขึ้นกับกปร. แต่เป็นแนวพระราชดำริที่จะให้มีแหล่งศึกษาเรียนรู้ในภูมิภาคนั้นๆที่มีความแตกต่างกันในภูมิประเทศและภูมิสังคม ฉะนั้น 6 ศูนย์จะสะท้อนปัญหาของแต่ละภูมิภาค ศูนย์การศึกษาคือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ชาวบ้านไปก็ดูได้ทุกอย่าง

อปท.นิวส์ ตอนนี้ในหลวงยังมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการอะไรอีกบ้าง?

รองเลขากปร. - ไม่มี โครงการที่เป็นพระราชดำริใหม่ๆจะเป็นฏีกา  คือที่มาของโครงการพระราชดำรินั้นจะมี 3ด้าน หนึ่งมาจากพระราชดำริโดยตรงเวลาท่านเสด็จฯไปไหน สองมาจากฏีกาที่ชาวบ้านถวายขอพระราชทานความช่วยเหลือ และสามเป็นการทำรายงานกราบบังคมทูลขอพระบรมพระราชวินิจฉัย ตอนนี้หลักๆมาจากฏีกาที่ชาวบ้านถวายขอความช่วยเหลือ ถ้าไม่ติดขัดอะไรก็จะรับเป็นโครงการในพระราชดำริ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...