ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
17 มี.ค. 2563

คอลัมน์ เขียนให้คิด .... โดย ซีศูนย์

เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงนี้บ้านเราเจอปัญหาวิกฤตหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าฝุ่น PM 2.5 ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโควิท -19 มาจนเรื่องปัญหาการเมืองที่เริ่มร้อนระอุตามหน้าร้อนอีก พวกเราก็ต้องระมัดระวังกันทุกเรื่องไม่พยายามขยายปัญหาไปยิ่งกว่านี้ แต่ก็นั่นละครับทุกอย่างแก้ไขได้ถ้าพวกเราทุกคนเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และช่วยกันป้องกันไม่ให้อันตรายใดๆ ลุกลามไปมากกว่านี้ เรามาว่าเรื่องของเราต่อไปนะครับ

เราจะมาเริ่มเรื่องกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ต่อ หลังจากเล่าเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินไปบ้างแล้ว ส่วนกรณีศึกษาจะค่อยๆ แทรกมาบ้างตามสถานการณ์ครับ ถามว่า ป.ป.ช.ทำงานไต่สวนอย่างไรนั้น ความจริงตามที่เกริ่นมาแต่ต้นว่า เริ่มแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้ และเกิด ป.ป.ช.ขึ้นมา

กระบวนการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ป.แต่เดิม จึงมาเป็นไต่สวนรูปแบบวิธีการจึงเปลี่ยนแปลงไปมาก รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ป.ป.ช.มากกว่าที่เคยเป็นมาแต่ครั้ง ป.ป.ป.ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงของการเมือง

กรรมการ ป.ป.ช.ที่จะสรรหามา ก็มีคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้คัดเลือก โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้มากมาย แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกสองสามครั้ง เกิดรัฐธรรมนูญปี 2550 และปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ปี 2560 องค์กรอิสระแห่งนี้ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงถึงอำนาจอะไรมากนัก เว้นแต่เฉพาะตัวคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากพอควร โดยการร่างของ กรธ.ที่นายมีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธานนั่นละครับ ซึ่งได้บอกเล่ากันไปในตอนก่อนๆ แล้ว ว่ากันถึงกระบวนการไต่สวนแล้วในรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้กว้างๆแต่จะไปเขียนขยายความไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญ     ปี 2560 มาตรา 234 ให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอํานาจไต่สวนและมีความเห็น กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญฯเขียนคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งแต่เดิมคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐครอบคลุมข้าราชการทุกประเภท แต่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2561 ได้เขียนคำนิยามที่ครอบคลุมความเป็นข้าราชการประเภทต่างๆ อีกต่างหาก

คือมีคำว่า เจ้าพนักงานของรัฐ ขึ้นมาอีกคำ ซึ่งรวมข้าราชการทุกประเภทหมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะเห็นว่าคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐแยกจากตำแหน่งทางการเมืองชัดเจน โดยคำนิยาม “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายถึง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ

อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคลบรรดาซึ่งมีกฎหมายกําหนดให้ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย

ว่าไปแล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงรวมเอาข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจทุกแห่งรวมถึงท้องถิ่นด้วย ส่วนอีกคำ“ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง” ก็คือ นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ทั้งยังรวมถึงข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว ไม่ว่าผู้บริหาร รองผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนะครับ ซึ่งต่อไปเวลามีคดีทุจริตต้องดูว่าจะแยกไปขึ้นศาลใดตามเขตอำนาจระหว่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบครับ

ว่ากันแค่คำนิยามก็จบอีกตอนแล้วครับ ยังมีอีกคำที่ชาวท้องถิ่นควรสนใจคือ ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งจะเล่าในตอนต่อไปนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...