ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
“บ้านวังน้ำมอก” สัมผัส 2 ล้านนา กินข้าวเซาเฮือน บรรยากาศดี ลืมโควิด
01 มิ.ย. 2563

บ้านวังน้ำมอก เป็นชุมชนที่สงบงามท่ามกลางธรรมชาติ พร้อมวิถีชีวิตที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นชุมชน 2 ล้าน 2 เวียง ที่ผสมผสานคนเชื้อสายลาวและล้านนาเข้าด้วยกัน ภาษาพูดจึงฟังไม่เหมือนภาษาอีสานซะทีเดียวแต่จะติดสำเนียงหวานแบบทางเหนือมาด้วย

โดยชุมชนวังน้ำมอกเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ชาวบ้านยังคงอาศัยอยู่ด้วยวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย เมื่อมาถึงหมู่บ้านจะสังเกตได้อย่างหนึ่งคือ หมู่บ้านนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับหมู่บ้านทางภาคเหนือเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่บริเวณจุดบริการนักท่องเที่ยวของหมู่บ้านที่มีการตกแต่งด้วยโคมไฟสไตล์ล้านนา หลายสิบโคม และบ้านเรือนทรงไทยที่เราเคยเห็นทางภาคเหนือ จึงเกิดคำถามขึ้นในใจ และเริ่มรู้สึกสนใจในประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านนี้เป็นอย่างมาก เป็นหมู่บ้านอันเงียบสงบที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยกันมาอย่างช้านานตั้งแต่ในสมัยอดีต ซึ่งความที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน ทำให้ที่นี่มีประวัติความเป็นมา มีอารยธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์เป็นอย่างมาก จนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ขึ้นมา

ต่อมาเมื่อกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โหมแรง แกนนำชาวบ้านในการจัดตั้ง “ป่าชุมชนภูผีปอบ” จึงแปลงโฉมบ้านวังน้ำมอกให้เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ โดยใช้ป่าชุมชนมาเป็นจุดขายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการรวมกลุ่มกันทำสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน และร่วมกันสืบสาน ฟืนฟู วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รองรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ด้วยความเข้าใจและเข้าถึงรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำให้สภาพภูมิทัศน์โดยทั่วไปของหมู่บ้านวังน้ำมอกเป็นระเบียบสวยงามมากขึ้น ในปี 2551 "บ้านวังน้ำมอก" จึงสามารถคว้ารางวัล "องค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวดีเด่น" ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ด้วยผลงาน "ป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชน" อย่างน่าภาคภูมิใจ

ใครมาถึงหมู่บ้าน จะต้องเดินผ่านซุ้มที่จัดทำไว้ด้านหน้า เหมือนปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ติดตามเข้ามาในหมู่บ้าน โดยด้านบนซุ้มจะประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระคู่หมู่บ้านไว้ด้านในหมู่บ้าน จะมีธารน้ำสายใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้าน หากจะหลีกหนีความวุ่นวายไปหาที่สงบๆ พักผ่อน เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมการกินอยู่ที่แตกต่าง ที่นี่มีให้เรียนรู้มากมายก่ายกอง ขอแค่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้าน และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันและกัน

ซึ่งบ้านวังน้ำมอกมีกิจกรรมท่องเที่ยวนวัตวิถีให้ทำเยอะแยะมากมาย ทั้งสอนทำโคมไฟพาแลง ทำตุงใยแมงมุม โดยเฉพาะการทำขันคู่ปี ซึ่งมีลักษณะเหมือนพานประดับดอกไม้ตามจำนวนอายุปัจจุบันของแต่ละคนแล้วบวกเพิ่มอีก 1 ปี โดยดอกไม้ที่ใช้ประดับต่างก็มีความหมายเป็นมงคล เช่น ดาวเรือง-ชื่อเสียง มังกรคาบแก้ว-ทรัพย์สินมั่งมี อัญชัน-สุขภาพแข็งแรง เป็นต้น พอทำเสร็จแล้วก็นำไปสักการะพระเจ้าล้านทองด้วยกันเพื่อความเป็นสิริมงคล

นอกจากนี้ ที่บ้านวังน้ำมอกยังปลูกกาแฟ และคั่วบดเองด้วยวิธีแบบชาวบ้าน จนได้กาแฟหอมกรุ่นติดเปรี้ยวนิดๆ เติมน้ำผึ้งลงไปหน่อย ได้รสละมุนดีทีเดียว ใครติดใจจะซื้อกลับบ้านก็มีแบบบรรจุถุงกรองเอาไปดริปต่อได้เลย ส่วนอาหารการกินก็มีเมนูพื้นบ้านเด็ดๆ เช่น อั่วไก่ยัดไส้ในดอกแค ไก่บอก แกงหน่อไม้ ส้มตำปลาร้า เป็นต้น จัดมาเป็นสำรับเรียกว่า กินข้าวเซาเฮือน

แถมยังมีแหล่งเรียนรู้ดูงานสำหรับหมู่บ้านแห่งนี้ก็คือ การดูแลรักษาป่าชุมชน โดยท้ายหมู่บ้านห่างไปราว 1 กม.จะมีป่าธรรมชาติ เรียกว่า ภูผีปอบ มีเนื้อที่ราวๆ 3,500 ไร่ และเป็นต้นทางไปสู่การเกิดขึ้นของอาชีพ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การกินอยู่ของคนในชุมชน จนเกิดเป็นความผูกพัน และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้พวกเขามีกินมีใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยจะเป็นที่สำหรับให้คนไปศึกษาดูงาน ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ และนักเรียนนักศึกษา ลงท้ายการพักค้างแรม ที่หมู่บ้านจัดทำเป็นโฮมสเตย์รองรับ มีอยู่ 20 หลัง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับรองแขกเหรื่อไม่ว่างเว้น

ถ้าใครอยากจะมาไหว้พระสร้างกำลังใจก็มี “วัดหินหมากเป้ง” ตั้งอยู่ ม.4 บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บนพื้นที่ภูเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช วัดหินหมากเป้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 โดยพระอาจารย์หล้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2513 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของพระสายวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากในสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2508 และริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย

ส่วนคำว่า “หินหมากเป้ง” เป็นชื่อหิน 3 ก้อน ที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยโบราณ คนพื้นถิ่นเรียกว่า “เต็ง” หรือ “เป้งยอย” (หมากเป้งเป็นผลของต้นไม้ตระกูลปาล์มหรือหมากชนิดหนึ่ง) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ส่วนหินก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทร์ (หินทั้ง 3 ก้อน จะมองเห็นได้เฉพาะในมุมมองจากแม่น้ำโขง หรือมุมมองจากฝั่งลาว)

โดยวัดแห่งนี้มีทิวทัศน์ที่ประดึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและบริเวณหน้าหอสมุด วัดหินหมากเป้ง มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือ หลักหินและเสมาหิน ซึ่งมีอายุเก่าแก่อยู่ในก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักหินและเสมาหินแหล่านี้ไม่ได้พบในพื้นที่วัดหินหมากเป้งแต่อย่างใด แต่นำมาจากบริเวณวัดอรัญญา หรือวัดดงนาคำ อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ตามประวัติกล่าวว่ามีจำนวน 52 ชิ้น

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีการสร้างสถานที่ต่างๆ เพื่อระลึกถึงหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เช่น มณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (สร้างเมื่อ พ.ศ.2524) เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ (สร้าง พ.ศ.2534 ก่อสร้างเสร็จ พ.ศ.2540) เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในสถานที่แต่ละแห่งจัดแสดงวัตถุและเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เทสก์ เช่น อัฐิ รูปปั้น เครื่องอัฐบริขาร ของใช้ และชีวประวัติของหลวงปู่เทสก์

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่อุดมไปด้วยธรรมชาติแบบนี้ก็คือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ น้ำตกวังน้ำมอก คือน้ำตกที่มีแนวสันภูเป็นผาหินมีลักษณะแปลกตาสวยงามมาก ธารน้ำไหลระยะทางลดหลั่นกันไป ตอนล่างเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลานหิน สามารถลงเล่นน้ำและอาบน้ำได้ น้ำตกวังน้ำมอก เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 30 เมตร อยู่ทางทิศเหนือของหมุ่บ้าน เลยเขตเทศบาลตำบลศรีเชียงใหม่ออกไปทางอำเภอสังคม ประมาณ 28 กิโลเมตร ก่อนถึงวัดหินหมากเป้ง 20 เมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่หมู่บ้านวังน้ำมอก ระยะทางจากทางแยกเข้าสู่น้ำตกประมาณ 7 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์จนถึงตัวน้ำตกได้โดยไม่ต้องเดินเท้า

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...