ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ก.คมนาคม ค้านแหลก ก.คลัง จ่อดึง การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ
29 เม.ย. 2564

เปิดแผน ก.คลัง จ่อดึง การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง วางหมากให้กองทุนวายุภักษ์ขายหุ้นให้ ธพส.คลังถือหุ้น 100% หวังใส่เงินเสริมสภาพคล่อง ด้าน “คมนาคม” ค้านหัวชนฝา หวั่นกระทบเพดานหนี้สาธารณะ เพิ่มเป็น 3 แสนล้าน

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมานี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการนัดประชุมเรื่องบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมตัวแทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (บริษัทผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย), ที่ปรึกษาทางการเงิน, บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุม

โดยกระทรวงการคลังได้นำเรื่องการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเสนอแนวทางให้นำบริษัทการบินไทยกลับมาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีแผนในการดำเนินการคือ ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นบริษัทการบินไทย 47.86% โดยที่กองทุนวายุภักษ์จะขายหุ้นบริษัทการบินไทย ให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ตั้งแต่ 2.15% ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้บริษัทการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีงบประมาณ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ และ พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ รวมถึง พ.ร.บ. อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รายงานข่าวเดียวกันนี้ ระบุต่ออีกว่า ในที่ประชุมดังกล่าว กระทรวงการคลังและกระทรวงการคมนาคม มีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องที่จะดำเนินการกับสถานะของบริษัทการบินไทยให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งตามที่กระทรวงคลังเสนอมา เพื่อให้สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ โดยกระทรวงคมนาคมเห็นว่า จะเกิดภาระกับรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมากว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีหนี้อยู่ 2.2 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากให้ ธพส. ซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2547 ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% มีวัตถุประสงค์ เพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารและบริหารอสังหาริมทรัพย์ โดย “บริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล” นั้น หากเข้ามาถือหุ้นในบริษัทการบินไทย จะเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจวัตถุประสงค์ของ ธพส. ที่ก่อตั้งขึ้นมาหรือไม่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ธพส. ได้ประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ นัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันนี้ (28 เม.ย. 2564) ซึ่งในระเบียบวาระการประชุม ข้อที่ 8 จะมีการพิจารณาอนุมัติเพิ่มวัตถุประสงค์ของบริษัทและการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 3 ของบริษัท จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการดำเนินการเพิ่มวัตถุประสงค์ให้สามารถลงทุน/ถือหุ้นในบริษัทการบินไทยได้ เพื่อการเข้าซื้อหุ้นต่อจากกองทุนวายุภักษ์

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. ซึ่งมีการยกเว้นแต่เป็นการลงทุนเกิน 25% หรือการร่วมลงทุนในบริษัทในเครือ ซึ่งต้องนำเสนอกระทรวงการคลัง, คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม. แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การลงทุนของ ธพส.ต้องกระทำผ่านการพิจารณาโดยผู้บริหาร/คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มซื้อหุ้นบริษัทการบินไทยได้นั้น จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนจากกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ในที่ประชุมดังกล่าว ยังมีความเป็นห่วงว่า หากจะนำบริษัทการบินไทยกลับเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งนั้น การบริหารจัดการหนี้ หลังจากที่กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นมา จากวันที่พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอยู่ 2.2 แสนล้านบาท แต่ในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้าน ซึ่งจะถูกโอนมาเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งก็คือภาษีอากรของประชาชนในทันที รวมถึงรัฐบาลจะต้องนำงบประมาณไปสนับสนุนให้บริษัทการบินไทย ปีละ 5 หมื่นล้านบาท ตามค่า KPI ทำให้รัฐต้องเข้าไปค้ำประกันไม่น้อยกว่า 3- 5 ปี กว่าที่บริษัทการบินไทยจะกลับมามีกำไร

ทั้งนี้ จะเกิดข้อครหาจากประชาชน เนื่องจากเมื่อ 9 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการขายหุ้น จนทำให้บริษัทการบินไทย ต้องออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ทำไมวันนี้ จึงมาเสนอให้บริษัทการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยถือเป็นการตบตาประชาชนหรือไม่ ขณะเดียวกันความเสี่ยงจากที่อยู่กับเอกชน เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจ ความเสี่ยงจะกลับมาอยู่กับภาครัฐในทันที รวมถึงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่กระทรวงคมนาคมเสนอไว้ ได้พยายามดำเนินการแล้วหรือยัง และหากยังไม่ดำเนินการ มั่นใจได้อย่างไรว่า จะฟื้นฟูไม่สำเร็จ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...