ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ชูปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนสู่ระบบสุขภาพยั่งยืน
22 ธ.ค. 2559

          สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 หวังสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่น้อมนำใช้เป็นแนวทางในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ พร้อมชู 4 ประเด็นนโยบายสุขภาพใกล้ตัว

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2559 (คจ.สช.) กล่าวถึงความหมายของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน”ที่เป็นประเด็นหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคมนี้ ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี ว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่2 พ.ศ.2559 เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้น้อมนำเอาแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อมุ่งสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์และเป้าหมายการมีสุขภาวะที่ยั่งยืนของบุคคลและสังคมไทยในอนาคต ซึ่งแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  โดยให้นำความรู้และคุณธรรมมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ 

          “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ได้เปิดพื้นที่เพื่อสื่อสารถึงธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 พร้อมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งต่างมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งสากลยอมรับ อีกทั้งยังเป็นแนวทางการสร้างสังคมสุขภาวะเพื่อนำไปสู่ความตื่นตัวทุกภาคส่วน และเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนานโยบายสาธารณะให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”  

          นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 มีความพร้อมเต็มที่ ทั้งการพัฒนาข้อเสนอนโยบายใหม่ 4 ประเด็นหลักที่เสนอมาจากภาคีเครือข่ายและเตรียมการมาตลอดปี ได้แก่ 1.การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ 2.น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน 3.การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และ 4.สานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน รวมทั้งการรายงานและนำเสนอรูปธรรมผลสำเร็จที่จับต้องได้ จากผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ครั้งที่ 1-8 รวม 69 มติผ่านห้องประชุมวิชาการและลานสมัชชาสุขภาพ

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กับ 4 ข้อเสนอนโยบายใหม่  

          ประธาน คจ.สช. กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอใหม่ทั้ง 4 ประเด็นในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้รับการขานรับอย่างดีจากทั้งเครือข่ายในพื้นที่ หน่วยงาน สถาบันและองค์กรภาคเอกชน ประชาสังคมต่างๆ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ตรงกับปัญหาใกล้ตัวที่ประชาชนพบอยู่ทั่วไป ต่างกันเพียงรูปแบบและความเฉพาะของปัญหา

          ตัวอย่างเช่น ประเด็น น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานในทุกภูมิภาคนั้น ที่ภาคเหนือเผชิญกับปัญหาน้ำฝนไม่สามารถใช้บริโภคอุปโภคได้ ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อน้ำจากโรงงานผลิตน้ำดื่ม ซึ่งบางรายมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่นกันกับภาคกลางที่ก็เผชิญกับปัญหาตู้กดน้ำหยอดเหรียญที่เป็นแหล่งน้ำดื่มหลักของชุมชน เกินครึ่งหนึ่งไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำดื่ม

          ส่วนปัญหาเรื่อง สุขภาวะของเด็กปฐมวัย ที่ผ่านมารัฐบาลและหลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับสุขภาพและพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกคลอดถึงวัยเข้าเรียน หากในหลายพื้นที่ก็ยังพบปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงเรื่องภาวะโภชนาการไม่สมดุล อีกทั้งการเพิ่มจำนวนของปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินหรือต่ำกว่าเกณฑ์สุขภาพดี และส่วนสูงต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลให้หลายภูมิภาคให้ความสนใจกับพัฒนาการและสุขภาวะของเด็กปฐมวัยมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับการก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งลงทุนสร้างทรัพยากรบุคคลตั้งแต่แรกเริ่มให้เติบโตเป็นพลเมืองของประเทศที่มีประสิทธิภาพ

          ขณะที่ประเด็น สานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายพื้นที่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหลังการระบาดใหญ่ของไข้เลือดออกในปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นข่าวครึกโครมตามหน้าสื่อเมื่อมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นดาราดัง หลายพื้นที่ทั้งหน่วยงานสาธารณสุขและภาคประชาชนระดมกำลังหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยเฉพาะภูมิภาคที่มีภูมิประเทศเสี่ยงต่อการระบาดของโรค เช่น พื้นที่รอยต่อชายฝั่งทะเลที่มีน้ำขังนิ่งบริเวณแอ่งหลังน้ำทะเลลด และยิ่งหากเป็นชุมชนเมืองที่สมาชิกส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน จะทำให้เวลาในการดูแลและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนเกิดขึ้นได้ยาก 

          และประเด็น การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ เนื่องจากเรื่องที่อยู่อาศัยนั้นส่งผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาจราจร ปัญหาชุมชนแออัด การบุกรุก การสร้างบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องสร้างกติกาที่เหมาะสม และเน้นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยต่างๆ เพื่อหามาตรการจัดระเบียบที่สอดคล้องการพัฒนาประเทศยุคปัจจุบัน

          ทั้ง 4 ประเด็น ล้วนต้องการการทำงานที่เชื่อมโยงกันของทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศต่อไป

          “ขอต้อนรับสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศ และหลากหลายหน่วยงาน องค์กรที่จะมาใช้เวลา 3 วันร่วมกันเพื่อพัฒนา ติดตาม และแลกเปลี่ยนประเด็นนโยบายทางสุขภาพ เพื่อนำกลับไปใช้ในพื้นที่หรือหน่วยงานของตน ขณะเดียวกัน ขอเชิญประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมเรียนรู้ประเด็นสุขภาพต่างๆ ทั้งในลานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เวทีกลางตลอดจนห้องประชุมวิชาการที่สนใจได้ หรือติดตามข้อมูลได้ทาง www.nationalhealth.or.th ด้วย”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...