ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็น ปัญหาเศษขยะและสิ่งปฏิกูลบริเวณทะเลพัทยา
15 ก.ค. 2560

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็น ปัญหาเศษขยะและสิ่งปฏิกูลบริเวณทะเลพัทยา  ดังนี้

จากที่มีรายงานว่าสภาพชายหาดและหน้าอ่าวบริเวณพัทยาใต้ ด้านหลังสถานีสูบน้ำในโครงการระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ใกล้ปากทางเข้าโครงการวอล์คกิ้งสตรีท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตลอดแนวชายหาดในระยะความยาวกว่า 300 เมตร สภาพผืนทรายมีสภาพดำสกปรก จากเศษขยะ สิ่งปฏิกูล และน้ำเน่าเสีย น้ำเป็นตะกอนขุ่นดำ แพร่กระจายเป็นวงกว้าง กว่า 1 ตารางกิโลเมตร และบริเวณด้านท้ายแหลมฉบัง และบริเวณชายหาดพัทยากลาง มีคุณภาพเสื่อมโทรมมาก นั้น 

เนื่องจาก ภูมิประเทศของเมืองพัทยาซึ่งมีลักษณะเป็นที่เนินสลับที่ราบลุ่ม มีลักษณะเป็นแอ่งบริเวณตอนกลางของพื้นที่เมืองพัทยาและจอมเทียน ระหว่างถนนสุขุมวิทและถนนเลียบชายหาด ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งการค้าย่านพาณิชยกรรม และที่พักอาศัย ซึ่งอยู่ถัดจากหาดพัทยาขึ้นไปทางตอนบน โดยที่ราบจะถูกล้อมรอบด้วยเนินเขาเตี้ยๆ สูงไม่เกิน ๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) มีที่ราบระหว่างเชิงเขากับชายฝั่งทะเลในตอนบนและตอนล่าง โดยที่ราบตอนบนส่วนใหญ่อยู่บริเวณนาเกลือ ส่วนที่ราบตอนล่างมีลักษณะเป็นแถบยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบตอนล่างจึงรับน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำระบายลงสู่ทะเลผ่านทางระบายน้ำธรรมชาติ โดยไหลจากที่สูงไปตามแรงโน้มถ่วง แต่จะมีบางพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อสูบระบายออก เนื่องจากมีลักษณะเป็นที่ราบต่ำ และในบางเวลามีน้ำทะเลหนุนสูงไม่สามารถระบายน้ำได้ รวมทั้งในปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่ปิดกั้นทางน้ำ เพื่อปลูกสร้างที่พักอาศัย และอาคารพาณิชย์ต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงฤดูฝน ต้องอาศัยการสูบระบายน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ ซึ่งในระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ในพื้นที่เมืองพัทยา ได้เกิดฝนตกหนักเฉลี่ยประมาณ ๕๐-๖๐ มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในชุมชนและเส้นทางการสัญจรหลายแห่ง ได้แก่ ถนนสุขุมวิท(พัทยาใต้) ถนนพัทยานาเกลือ ถนนเลียบชายหาดพัทยา ถนนเลียบทางรถไฟ ถนนพัทยาสาย ๓ ตลาดนาเกลือ โดยในระหว่างที่เมืองพัทยาได้สูบระบายน้ำฝนดังกล่าวลงทะเลด้านหาดพัทยา บริเวณที่เป็นข่าวตามภาพ แต่เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำของเมืองพัทยาเป็นระบบท่อรวม (Combined Sewerage System) โดยการใช้ท่อระบายน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันตามแนวถนนต่างๆ รวบรวมทั้งน้ำจากพื้นที่ต่างๆ และน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ส่งไปยังท่อดักน้ำเสีย กล่าวคือ มีการรวบรวมน้ำและน้ำฝนเข้าไว้ในท่อเดียวกัน โดยสามารถเก็บรวบรวมน้ำได้ในปริมาณ ๒.๕ เท่าของอัตราการไหลเฉลี่ยของน้ำเสียรายวันในฤดูแล้ง (2.5 DWF: Average Dry Weather Flow) เพื่อรวบรวมไปยังระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป แต่ในช่วงที่ทำการสูบเพื่อระบายน้ำฝนในขณะที่เกิดฝนนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำในท่อระบายน้ำจำนวนมาก ได้พัดพาเอาเศษวัสดุ ขยะพลาสติก ใบไม้ที่ลอยมากับน้ำ ไหลล้นออกสู่ทะเลตรงบริเวณบ่อรวบรวมน้ำ(CSO) โดยปริมาณขยะมูลฝอยที่มีลักษณะเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็ก ใบไม้ที่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลดำ รวมทั้งตะกอนดินสีดำตามภาพ ทำให้ชายหาดพัทยามีสีดำคล้ายกับเกิดน้ำเน่าเสีย ซึ่งเมืองพัทยาได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้ว พบว่าน้ำไม่ได้เน่าเสียแต่อย่างใด 

สำหรับการแก้ไขในเบื้องต้นนั้น หน่วยงานเมืองพัทยาประกอบด้วย สำนักการช่างสุขาภิบาล สำนักการช่าง และสำนักสิ่งแวดล้อม ได้นำพนักงานช่วยกันเก็บกวาด เศษวัสดุเช่น พลาสติก ใบไม้ชิ้นเล็ก ที่ตกค้างอยู่บนพื้นทรายและส่วนที่ปนอยู่กับน้ำทะเล บริเวณชายหาดออกไป ซึ่งขณะนี้ดำเนินการทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว และในลำดับต่อไปจะดำเนินการติดตั้งตาข่ายดักขยะ รวมทั้งตะแกรงดักขยะไม่ให้ลงทะเลเมื่อมีฝนตกอีก

ทางด้านการเตรียมการแก้ไขในระยะยาวนั้น เมืองพัทยาจะดำเนินการปรับปรุงระบบระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ มีการก่อสร้างท่อระบายน้ำและท่อรวบรวมน้ำเสียเป็นระบบท่อแยก เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียเจือปนดังเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้ นอกจากนี้ เมืองพัทยาจะดำเนินการวางแผนหาแนวทาง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และการกำจัดขยะมูลฝอยร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย สำนักสิ่งแวดล้อมภาค 13 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรีด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...