ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กวก. ลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ติดตามเข้มงวด นำเข้าวัตถุอันตรายผ่านด่านตรวจพืช
28 ก.ค. 2566
 

     นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ พร้อมด้วย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง หัวหน้าด่านตรวจพืชลาดกระบัง สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร  เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน ควบคุม ตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก สินค้าพืชและวัสดุการเกษตร ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร มีมาตรการเข้มงวดการนำเข้าวัตถุอันตรายผ่านด่านตรวจพืช

     อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า  ได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย ของบริษัทหนึ่งย่านปทุมธานี ที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ ตรวจพบการนำเข้าสินค้าวัตถุอันตรายสารไกลโฟเซตที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดตามมาตรา 45 (1) ประกอบ มาตรา 47 (1) (5) นำเข้าและครอบครองวัตถุอันตรายปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีนี้พบว่ามูลค่าการกระทำความผิดมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท เข้าลักษณะคดีพิเศษ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าร่วมการสืบสวน ซึ่งจากการตรวจสอบพบของเหลวสีเหลือง ที่ผลตรวจพบว่าเป็นสารไกลโฟเซต จำนวน 721 ถัง ถังละ 200 ลิตร ปริมาณรวมทั้งสิ้น 144,200 ลิตร จึงสั่งอายัดไว้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และขอให้ริบของไว้เพื่อดำเนินการทำลายต่อไป นอกจากมีความผิดทางอาญาแล้ว ผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาบรรยายให้ความรู้แนวทางและกรรมวิธีในการสอบสวนที่เข้มข้นแก่เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร

     นอกจากนี้ ได้สั่งอายัด และสั่งขยายมาตรการเข้มงวด ในการนำเข้าวัตถุอันตราย ผ่านด่านตรวจพืช เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตราย อีก 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 66 – 15 ก.ย. 66 สืบเนื่องจาก การที่กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการดังกล่าว มาแล้ว 60 วัน และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจพบว่า บริษัทแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ ได้ยื่นใบแจ้ง (การนำเข้าราชอาณาจักร/ส่งออกนอกราชอาณาจักร และนำเข้าออกจากด่านศุลกากร) แจ้งนำเข้าวัตถุอันตรายสาร Validamycin 3 % W/V SL ปริมาณการนำเข้า 48,000 ลิตร ว่ามีลักษณะของภาชนะบรรจุ 2 ลักษณะ เมื่อเปิดตรวจสอบพบสารที่เป็นของเหลวที่บรรจุในภาชนะถังพลาสติก 200 ลิตรมีสีแตกต่างกัน คือ ตรวจพบสารของเหลวสีเหลืองจำนวน 49 ถัง และ ของเหลวสีเขียวจำนวน 191 ถัง  ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สารสีเหลืองเป็นสารไกลโฟเซตเป็นการลักลอบนำเข้าไกลโฟเซต โดยการสำแดงเท็จ ในเอกสารประกอบการนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตามมาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พักใช้ใบอนุญาตนำเข้า ดำเนินคดีอาญาตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แจ้งศุลกากรดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ศุลกากร และ แจ้งความคดีอาญาในการสำแดงเอกสารเท็จต่อเจ้าหน้าที่

     อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ในขณะนี้ มีเพจปลอมแอบอ้างใช้ชื่อ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เพื่อจำหน่ายสินค้า ในกรณีดังกล่าว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้สารวัตรเกษตร ร่วมกับ  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าดำเนินการตรวจสอบทันที โดยซื้อสินค้าเพื่อส่งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ว่าเป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือไม่ หากพบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะขยายผลการจับกุมและดำเนินคดีต่อไป ซึ่งหากเกษตรกรท่านใดซื้อสินค้ามาแล้ว สามารถประสาน ทางสารวัตรเกษตรไซเบอร์ของกรมวิชาการเกษตร ที่เบอร์ 063-2106252  เพื่อให้ข้อมูลดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

     พร้อมกันนี้ได้กำชับให้นายตรวจพืชต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้า ในคู่มือการปฏิบัติงานของพระราชบัญญัติกักพืชฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เต็มความสามารถ โดยเฉพาะสินค้าที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค และที่เป็นวัตถุดิบในโรงงานผลิต  เช่น  มะพร้าวแก่ปอกเปลือก และ กระเทียม รวมถึง การเฝ้าระวังโรคและศัตรูพืชที่อาจติดมากับสินค้าจนนำมาสู่การแพร่ระบาดของศัตรูพืชต่างถิ่นที่เข้ามาระบาด จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงระบบการผลิตพืชภายในประเทศไทย

     “การลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพในวันนี้ ได้สั่งการให้เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้า และส่งออกสินค้า ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริโภคต้องได้รับความปลอดภัยทางอาหาร เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะวัตถุอันตรายทางการเกษตร ในกลุ่มสารกำจัดโรค แมลงศัตรูพืช และสารกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้หารือ กับ หอการค้า ไทย – อิสราเอล และ บริษัท Seetrue ประเทศอิสราเอล ในความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีระดับสูง (AI) มาใช้ X-Ray ตรวจสอบสินค้าพืช ณ ด่านตรวจพืช
 
 
 
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...