ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ทิศทางอนาคตพลังงานสะอาดของ TPIPP เข็มมุ่งทางธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
12 ก.ย. 2566

การเกิดภัยพิบัติในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้งและคลื่นความร้อน ปรากฏบ่อยขึ้น สืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) ต้นเหตุสำคัญสืบเนื่องมาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีการนำพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหินและปิโตรเลียมมาใช้อย่างยาวนาน ทางรอดและทางเลือกของโลกคือ การนำพลังงานสะอาดที่ได้จากแสงอาทิตย์ ลม ขยะ มาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลที่มีอยู่อย่างจำกัดและกำลังจะหมดไป

ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุคใหม่ ทำให้เกิดพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม ขยะหรือชีวมวลซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคตแล้ว พลังงานสะอาดเหล่านั้น ยังมีให้ใช้อย่างไม่จำกัด สามารถตอบสนองต่อสังคมโลก ซึ่งมีความห่วงใยต่อปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างเต็มที่ ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือจะมำให้ประเทศไทยเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

เมื่อชายตาไปที่บริษัทเอกชนผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ คงต้องกล่าวถึงบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ซึ่งมี บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPLเป็นบริษัทแม่ ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง และโรงไฟฟ้าขยะพลังงานเชื้อเพลิง RDF ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และยังประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) โดย

ปัจจุบันถือได้ว่าTPIPP เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Municipal Solid Waste-MSW) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นโรงกำจัดขยะชุมชนใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะเดียวกัน TPIPP กำลังขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างพลังงานสะอาดอย่างเอาจริงเอาจัง ในหลายโครงการ ทั่วประเทศ

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน  บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า ปัจจุบันTPIPPมีโรงงานผลิตไฟฟ้าอยู่ 3 แบบประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งถ่านหิน ซึ่งบริษัทฯ กำลังปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินให้กลายเป็นโรงไฟฟ้าขยะ คือลดการใช้ถ่านหินแล้วเปลี่ยนมาใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงแทน ตามเป้าหมายของบริษัทฯที่จะก้าวเข้าสู่ยุคโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก

“แน่นอนว่าการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเพิ่มกำลังผลิตด้วย โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4ปี ซึ่งเมื่อประมาณต้นปี 2522 เรามีการใช้ถ่านหินอยู่ 220 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันเราใช้เพียงแค่150 เมกกะวัตต์แล้วนะครับ คาดว่าเมื่อถึงปี 2569 จาก 150 เมกกะวัตต์ ส่วนที่ผลิตด้วยถ่านหินก็จะเหลือ 0 เมกกะวัตต์ คือเราจะไม่ใช่ถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าอีกเลย”

นายภัคพล กล่าวอีกว่า ตอนนี้ TPIPP ตั้งเข็มมุ่ง เพื่อที่จะเติบโตในธุรกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอย่างเต็มที่ จากปัจจุบัน TPIPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ แต่ภายในปี 2569 อีก 3 ปีที่จะถึงนี้ จะขยายกำลังผลิตขึ้นไปถึง 545 เมกะวัตต์ ซึ่งการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะอาดนี้ขณะนี้ได้เซ็นสัญญากับซัพพลายเออร์ไปแล้ว โดยจะผลิตไฟฟ้าในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม 3 โครงการโดยสร้างที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 1 โครงการอีก 1 โครงการที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ส่วนวินฟาร์มก็จะสร้างที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 1 โครงการ

ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะก็จะมีการดำเนินการเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ คือที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ขนาด 7.92  เมกะวัตต์และอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ปริมาณขายไฟฟ้ารวม 17.82 เมกะวัตต์ โดยได้รับค่ากำจัดขยะและค่าจำหน่ายกระแสไฟฟ้า มีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี 

สำหรับโครงการที่จังหวัดสงขลานั้น TPIPP ได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาไปแล้วเซ็นสัญญากับซัพพลายเออร์เรียบร้อยแล้ว และได้มีการเซ็นสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วด้วย สรุปก็คือ ทั้งซัพพลายก็คือขยะ ก็เซ็นแล้ว ฝั่งขายออกไปให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็เซ็นแล้วเช่นกัน

“ตอนนี้โครงการที่สงขลา ถือเป็นโครงการที่ค่อนข้างจะมั่นคงแล้วโดยเราได้ยื่นเรื่องขออนุญาติก่อสร้างไปแล้ว ส่วนการก่อสร้างนั้น ขณะนี้กำลังปรับสภาพพื้นที่อยู่ หลังจากปรับหน้าดินเสร็จก็น่าจะเริ่มมีอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาภายในเดือนสองเดือนนี้ก็จะเริ่มก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าได้ คาดว่าเฟสแรกน่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี2567 เฟสสุดท้ายก็คาดว่า ประมาณไปปลายปี 2567คาดว่าจะเริ่มขายไฟจริงๆ ก็คงเป็นต้นปี 2568” นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ กล่าว

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...