ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
อุบลฯ คุณยาย 90 ปีสู้ชีวิตสานกระติ๊บใส่ข้าวเหนียวขายเลี้ยงชีพ
25 ม.ค. 2567

              คงต้องบอกว่า “อายุเป็นแค่เพียงตัวเลข” เมื่อมาเจอกับคุณยายยอดนักสู้ ไม่ขอใครกิน แต่สานกระติ๊บใส่ข้าวเหนียว ขายใบละ 50 บาท เลี้ยงชีวิตตนเอง แม้หลานจะส่งเงินมาให้ใช้ พร้อมมีเงินสวัสดิการของรัฐ แต่ก็ไม่ยอมหยุดนิ่ง ล่าสุดเทศบาลเตรียมให้คุณยายเป็นวิทยากรอบรมสานกระติ๊บให้เพื่อนบ้านไปต่อยอดสร้างรายได้เหมือนคุณยายด้วย

              วันนี้ ขอพาไปดูฝีมือการสานกระติ๊บใส่ข้าวเหนียว ของนางเพียร เจริญวงค์ คุณยายวัย 90 ปี ชาวบ้านคำนางรวย หมู่ 3 ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอาศัยอยู่บ้านตามลำพังเพียงคนเดียว เพราะลูกสาวที่เป็นอดีตพยาบาลและสามีได้เสียชีวิตไปแล้ว ยังคงเหลือหลานสาว ซึ่งทำงานอยู่กรุงเทพฯ ปีหนึ่งจะได้กลับมาเยี่ยมคุณยายสักครั้งหนึ่ง เพราะด้วยต้องทำงาน แต่ก็ส่งเงินมาให้เพื่อนบ้านใช้คอยดูแลคุณยายเดือนละ 4,000 บาทเป็นประจำไม่เคยขาด จากการสอบถามคุณยาย รวมทั้งเพื่อนบ้านและนักบริบาลชุมชนที่ดูแลคุณยายเพียรทราบว่า เดิมเป็นคนอยู่ตำบลไร่น้อย อ.เมืองอุบลราชธานี แต่เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ลูกสาวได้มาซื้อบ้านและพาย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบัน แต่ลูกสาวก็มาเสียชีวิตไปด้วยโรคประจำตัว จากนั้นอีกไม่นานสามีที่อยู่กินกันมาเกือบ 70 ปี ก็มาเสียชีวิตไปอีกคน ทำให้เหลือเพียงตัวคนเดียวที่อยู่บ้าน และด้วยเป็นคนชราที่ไม่มีโรคประจำตัว กับมีพื้นฐานด้านการจักตอกสานหญ้าคามาตั้งแต่ยังเป็นสาว เมื่อมาเห็นเพื่อนบ้านสายกระติ๊บใส่ข้าวเหนียว ก็สามารถทำได้ทันที จึงยึดเป็นอาชีพในวัยชรา โดยใช้ต้นหญ้ารังกา ร่วมกับต้นไหลที่หาได้แถวบ้าน มาสานเป็นกระติ๊บใส่ข้าวเหนียว เพราะต้นไม้ทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติดีกว่าไม้ไผ่ เพราะจะไม่ทำให้ข้าวเหนียวติดกระติ๊บข้าว แล้วใช้ใบจากต้นตาลที่หามาได้ทำเป็นตีนกระติ๊บข้าวขายใบละ 50 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาถูกมาก เนื่องจากกระติ๊บใบขนาดที่คุณยายทำ ถ้าขายกันทั่วไปจะมีราคาขั้นต่ำ 100-120 บาท แต่คุณยายก็ขายแค่ในละ 50 บาทเท่านั้น ทั้งที่กว่าจะสานเสร็จ 1 ใบต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน ส่วนการนำไปขายก็มีทั้งคนที่ทราบมาสั่งให้ทำคนละ 2-3 ใบ ถ้าขายไม่หมด ก็จะนำไปวางขายเวลาไปวัดในวันพระ เพื่อนบ้านและคนที่มาทำบุญเห็นก็จะช่วยกันซื้อไปจนหมด ทำให้พอมีรายได้เลี้ยงชีวิตตนเอง นอกเหนือไปจากเงินสวัสดิการคนชรา คนพิการทางการได้ยิน(หูตึง) และบัตรคนจนเดือนละ 2,100 บาท รวมทั้งเงินอีกจำนวนหนึ่งที่หลานสาวส่งมาให้ผ่านเพื่อนบ้าน คุณยายเพียรบอกว่า ใช้จ่ายเงินส่วนตัว ซื้อของกินวันละประมาณ 50 บาท ส่วนอาหารอื่นๆ ก็เพื่อนบ้านที่คอยดูแลบางทีก็ซื้อมาให้กินเสริม อาหารหลักจะเป็นต้นผัก ตำแจ่ว หมกไก่ หมกปลา เพราะย่อยง่ายไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ วันไหนที่รู้สึกปวดมือจากการสายกระติ๊บข้าว ก็จะหันไปทำความสะอาดกวาดบ้าน ส่วนกระต๊อบจะเป็นที่อยู่หลักในช่วงกลางวัน เพราะลมโกรกเย็นสบายไม่ร้อน ทุกวันนี้ จึงมีความเป็นอยู่ตามอัตภาพ โดยมีคนในชุมชนคอยช่วยกันดูแล ด้านนางจันทร์ หรือแม่เต่า แสงกล้า นักบริบาลชุมชนของโรงพยาบาลวารินชำราบ กล่าวว่า ตนจะเป็นคนเข้ามาดูแลถามไถ่สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ส่วนทางโรงพยาบาลจะมาดูเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากยายเพียร เป็นคนแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว มีแต่อาการของคนวัยชราตามปกติ นอกจากมีแม่เต่าคนดูแลเรื่องสุขภาพแล้ว ก็ยังมีเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันคอยดูแลเรื่องหากับข้าวให้คุณยายจากเงินของหลานส่งมาให้ และพาไปเบิกเงินจากธนาคารที่อยู่ใกล้บ้านมาซื้อของกินตามที่คุณยายอยากจะกิน ขณะนี้ ก็ได้แนะนำให้คุณยายเพียร กินข้าวเจ้าแทนข้าวเหนียว และให้งดเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เนื่องจากยายเพียรไม่มีฟันแล้ว อาหารหลักจึงเป็นผัก แจ่ว และเนื้อปลา ส่วนวัสดุที่นำมาใช้สานกระติ๊บข้าวต้นรังกา ยายเพียรก็ไปหาตัดเอาเองแถวข้างบ้าน ส่วนต้นไหลและใบตาลตนเป็นคนนำมาให้จากสวน เพื่อให้ยายเพียรมีวัสดุใช้ในการสานกระติ๊บข้าวเหนียวหารายได้เสริม ซึ่งยายได้สานกระติ๊บข้าวขายมานาน 5-6 ปีแล้ว ก็ทำให้ไม่เหงาเหมือนอยู่บ้านเฉยๆ

ด้านนางวราภรณ์ เพียแก้ว หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลคำน้ำแซบ ซึ่งดูแลด้านสวัสดิการให้คุณยายเพียร บอกว่า ล่าสุดก็เพิ่งนำบัตรคนพิการทางการได้ยินใบใหม่มาให้ เพราะบัตรเก่าหมดอายุ นอกจากคุณยายจะได้รับเงินจากสวัสดิการของรัฐที่เทศบาลคอยดูแลให้แล้ว ก็ยังมีนักพัฒนาชุมชนแวะเวียนเข้าไปพูดคุยสอบถามคุณยายเป็นระยะ ด้านการดูแลสุขภาพก็มีทางโรงพยาบาลเข้ามาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกเดือน และเตรียมพาคุณยายไปเป็นวิทยากรอบรมสานกระติ๊บใส่ข้าวเหนียวให้เพื่อนบ้านที่เป็นคนวัยชรา และวัยทำงาน เพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตนเองด้วย สำหรับผู้ใจบุญต้องการบริจาคเงินให้คุณยายเพียร เจริญวงศ์  สามารถบริจาคได้ในชื่อบัญชีของคุณยายผ่านธนาคารออมสิน สาขาวารินชำราบ 02-0210-0683-24 จ.อุบลราชธานี หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากนางจันทร์ หรือแม่เต่า แสงกล้า นักบริบาลชุมชน ซึ่งเป็นคนคอยดูแลคุณยายเรื่องสุขภาพที่หมายเลขโทรศัพท์ 090-617-7869


สุธน ประกอบพร/อุบลราชธานี                        
///////////////////////////////////////////////////////////

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...