ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
วราวุธ รมว.พม. ผนึกกำลังทุกเครือข่ายสุพรรณบุรี นำร่องจังหวัดปลอดภัย คนไทยไม่ไร้บ้าน
13 ก.พ. 2567

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เป็นประธาน Kick off โครงการบูรณาการกลไกเพื่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พื้นที่นำร่องจังหวัดสุพรรณบุรี "จังหวัดปลอดภัย คนไทยไม่ไร้บ้าน" โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อม นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อธิบดี พส.) และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เขต 1 ทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดสุพรรณบุรี  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 127 แห่ง อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) กลุ่มเด็กและเยาวชน และผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมประกาศเจตนารมย์ “สุพรรณบุรีปลอดภัย คนไทยไม่ไร้บ้าน” ณ วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย โดยปัญหาการตกงานและปัญหาครอบครัว นับเป็น 2 สาเหตุสำคัญของการเป็นคนไร้บ้าน ปัจจุบัน มีกลุ่มเป้าหมายตามขอบเขตพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 จำนวนกว่า 10 ล้านคน ประกอบด้วย บุคคลที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม คนเร่ร่อน บุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรแต่ไร้สัญชาติ และบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ “พม.พอใจ ให้ทุกวัยพอใจใน พม.” เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านนั้น คือ การส่งเสริมการจ้างงานและการมีงานทำของกลุ่มเปราะบาง การยกระดับการคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย และการส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกช่วงวัย 
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนสร้างจังหวัดปลอดภัย คนไทยไม่ไร้บ้าน โดยในปี 2567 ได้กำหนดประเด็นการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน เป็นตัวชี้วัดด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และจัดทำโครงการบูรณาการกลไกเพื่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อการเชื่อมโยงกลไกการทำงาน (Finding local services) ในการประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสวัสดิการสังคม (Outreached) แบบเบ็ดเสร็จ มีคุณภาพ และมีมาตรฐานได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงเกิดรูปแบบบริการต้นแบบ ด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในระดับจังหวัด และชุมชน (Protection Service Plan) 
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า จังหวัดสุพรรณบุรีนับเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในระดับพื้นที่ และศักยภาพของ ทีม พม.หนึ่งเดียว ที่จะผลักดันให้เกิดรูปแบบของ สุพรรณบุรี Protection Service Plan เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งวันนี้ มีกิจกรรม Kick off โครงการบูรณาการกลไกเพื่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พื้นที่นำร่องจังหวัดสุพรรณบุรี "จังหวัดปลอดภัย คนไทยไม่ไร้บ้าน" โดยกระทรวง พม. เป็นแกนหลัก และร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่าย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดูแลพี่น้องประชาชนชาวสุพรรณบุรีให้มีความมั่นคงในชีวิต มีความมั่นคงในที่พักอาศัย เพราะหัวใจสำคัญของการดำรงชีพ คือปัจจัย 4 และหนึ่งในนั้นคือที่พักอาศัย วันนี้ได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีว่า มีคนไร้บ้านอีกไม่ถึง 30 ราย จึงเป็นความหวังว่าภายในสิ้นปีนี้ เราจะเห็นจังหวัดสุพรรณบุรีปลอดคนไร้บ้าน เพราะปัญหาเรื่องคนไร้บ้านนั้น บางครั้งไม่เพียงเฉพาะเรื่องของที่อยู่อาศัย แต่รวมถึงผู้ป่วยทางจิต ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแล การเยียวยาแก้ไขได้ทันท่วงทีนั้น จะพัฒนาความป่วยขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นงานในวันนี้ กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้มาร่วมกันผนึกกำลัง ทำให้เป็นจังหวัดนำร่องในโครงการตัวอย่าง ว่าเป็นจังหวัดปลอดภัย คนไทยไม่ไร้บ้าน เมื่อมีความมั่นคงในชีวิต เมื่อมีที่พักอาศัย สิ่งที่ตามมาจะเป็นการทำงานที่มีรายได้ และท้ายที่สุดจะทำให้สังคมในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจุดเริ่มต้น และหวังว่าจะได้พัฒนาให้กับทุกๆจังหวัด ทำให้คนไทยทั้งประเทศไม่ต้องไร้บ้านอีกต่อไป
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในส่วนการหาที่พักอาศัยให้กับคนไร้บ้านนั้น ไม่ใช่เพียงแค่หาบ้านให้อยู่ แต่การเสริมศักยภาพ การส่งเสริมและสร้างอาชีพนั้น มีความจำเป็นและสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าหากมีบ้าน แต่ไม่มีรายได้ จะไม่สามารถมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในการดำรงชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น หน้าที่ของกระทรวง พม. ไม่ใช่แค่เพียงหาบ้านให้อยู่ แต่ต้องเสริมสร้างศักยภาพและการส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้ เพื่อให้ทุกคนนั้นเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของสังคมไทย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...