ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ควันหลงประเพณีสงกรานต์กะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง กับกิจกรรมสำคัญที่ต้องทำในวันมหาสงกรานต์ (ขึ้น 15ค่ำเดือน 5)
26 เม.ย. 2567

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี  ซึ่งชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง รวมทั้งประชาชน  นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานประเพณี สงกรานต์บ้านสะเนพ่อง  โดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ของทุกปีเป็นวันมหาสงกรานต์ประจำปี 2567 ต่างสวมใสชุดพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่มีทั้งสีสันสดใส แดง ชมพู น้ำเงิน ม่วง ฟ้า เหลือง รวมถึงสีขาวบริสุทธิ์ เดินทางมาที่วัดสะเนพ่อง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานสงกรานต์ของหมู่บ้านในทุกปี ต้องบอกว่า ประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านสะเนพ่อง นั้นไม่ได้เน้นความสนุกสนาน แต่เน้นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยกิจกรรมช่วงเช้าของวันนี้ เริ่มต้นด้วยสิ่งดีๆ คือพิธีตักบาตรใต้ต้นโพธิ์ ที่อยู่ด้านหลังวัดสะเนพ่อง ชาวบ้านและผู้มาร่วมงานทั้งหมดจะมารวมกันที่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็น 

       เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ได้เดินทางมายังลานพิธีใต้ต้นโพธิ์ที่ได้จัดเตรียมไว้ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และให้ผู้เข้าร่วมพิธีร่วมกันรับศีล 5(เบญจศีล) ต่อมาทุกคนที่มาร่วมงานจึงได้ร่วมกันตักบาตรข้าวสุก จากนั้นก็กรวดน้ำแผ่บุญกุศลให้กับพ่อแม่ ญาติสนิท มิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร รุกขเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อความเป็นสิริมงคล 

       สำหรับพิธีกรรมดังกล่าวมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าในพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ใช้ต้นโพธิ์เป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ชาวบ้านที่นี่จึงถือต้นโพธิ์ เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ จึงได้ระลึกถึงคุณงามความดีการร่วมกันตักบาตรใต้ต้นโพธิ์ ก็เสมือนกับได้ตักบาตรต่อหน้าพระพุทธเจ้านั่นเอง..เสียง นายทิวา คงนานดี ปราชญ์ชุมชนกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่

       ต่อจากนั้นจึงมาถึงพิธี “ค้ำต้นโพธิ์  หรือ “ขอขมาต้นโพธิ์” ซึ่ง ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่ที่เตรียมมาจากบ้าน มาค้ำยัน กิ่งก้าน และลำต้นของต้นโพธิ์  นอกจากการนำไม้ไผ่มาค้ำต้นโพธิ์แล้ว ชาวบ้านยังนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย มาทำความสะอาดต้นโพธิ์และไหว้เพื่อขอขมาต้นโพธิ์ ทำให้บริเวณลานโพธิ์ที่เคยว่างเปล่ามีไม้ไผ่จำนวนหลายร้อยกระบอก ค้ำกิ่งก้านต้นโพธิ์โดยรอบ

        ชาวกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่องมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การค้ำต้นโพธิ์ เสมือนเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนา  อีกทั้งยังเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์เป็นการฝากชีวิตให้กับต้นโพธิ์ช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ  มีคนช่วยเหลือค้ำชู มีอายุมั่นขวัญยืน สุขภาพพลามัยแข็งแรง และยังเป็นการสะเดาะเคราะห์ ให้ผ่านพ้นจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง รวมถึงเป็นการต่ออายุของตนเองด้วย..เสียงชาวบ้าน

       จากนั้นชาวบ้านจะไปที่บริเวณลำห้วยโรคี่ ที่ไหลผ่านด้านหลังของวัดสะเนพ่อง เพื่อร่วมพิธีขอขมาสะพานและล้างสะพานที่ได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาจากไม้ไผ่ เพื่อไว้เดินทางข้ามไปมาหาสู่กัน  เมื่อมาถึงบริเวณสะพาน ทุกคนก็จะพร้อมใจกันตักน้ำในลำห่วยโรคี่ มาล้างทำความสะพาน นำหินจากในลำน้ำมาวางบนสะพาน ก่อนจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาปะพรม รวมทั้งนำกระบอกไม้ไผ่ที่ภายในบรรจุน้ำไว้มาวางข้างๆสะพานพร้อมดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมมา ก่อนที่เจ้าพิธีจะนำประกอบพิธีขอขมาสะพาน 

      ก่อนจะปิดท้ายพิธีกรรมในช่วงเช้าด้วยการร่วมกันปล่อยปลาที่ได้จากการช่วยให้รอดมาจากแหล่งน้ำที่กำลังแห้งขอด เพื่อมาปล่อยในแม่น้ำให้ได้รอดพ้นจากความตายโดยชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาถึงการชำระล้างสะพาน และการปล่อยปลาในวันสงกรานต์ ว่าการชำระล้างสะพานนั้นเหมือนการชำระล้างสิ่งสกปรก นำอุปสรรคและสิ่งกีดขวางให้ออกไปจากชีวิต เพื่อให้ชีวิตปราศจากอุปสรรคและปัญหา ทำสิ่งใดก็จะประสบแต่ความราบรื่น การปล่อยปลาจะทำช่วยให้แม้จะตกอยู่ในห้วงที่ต้องตายก็จะผ่านพ้นจากความตาย ความทุกข์ ความโศก ไปได้ด้วยผลบุญที่ได้ปล่อยปลานั่นเอง  เมื่อเสร็จจากการปล่อยปลาแล้วผู้ที่มาร่วมพิธีทั้งเด็ก วัยรุ่น และคนเฒ่า คนแก่ ก็จะนำขัน หรือภาชนะอื่นที่เตรียมมา ตักน้ำในลำหวยโรคี่สาดใส่กันพอหอมปากหอมคอ ช่วยให้คลายร้อน ก่อนแยกย้ายกันพักพ่อน เพื่อรอพิธีสรงน้ำพระแก้วในช่วงบ่าย

       ต่อมาในช่วงบ่าย ได้มีพิธีอัญเชิญพระแก้วขาว (พระรัตนสังขละบุรี ศรีสุวรรณ) พระคู่บ้านคู่เมือง ออกจากที่ประดิษฐาน ในศาลาวัดสะเน่พ่อง มายังศาลาพิธีด้านหน้าวัดสะเนพ่อง โดยในทุกๆ ปี จะมีการสร้างขึ้นมาจากไม้ไผ่และวัสดุจากธรรมในหมู่บ้าน ก่อนจะประดับประดาสถานที่ด้วยริ้วธง ตุง และดอกไม้ เพื่อให้ดูสวยงาม เหมาแก่การใช้เป็นสถานที่สรงน้ำพระแก้วขาว หลังจากพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  พระภิกษุ และแม่ชี จะเริ่มทำการสรงน้ำพระแก้วขาว โดยน้ำที่ใช้เป็นน้ำที่ใส่น้ำหอม แป้ง ขมิ้น และลูกส้มป่อยที่ผ่านการเผาแล้ว ทำให้น้ำมีกลิ่นหอม 
หลังจากนั้นก็ให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานจะได้สรงน้ำพระแก้วขาว เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งปีนี้มีผู้ที่มาร่วมพิธีสรงน้ำพระแก้วขาวจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องใช้เวลานานอยู่หลายชั่วโมง

       พระพุทธรัตนสังขละบุรีศรีสุวรรณ (พระแก้วขาว) พระคู่บ้านคู่เมืองอำเภอสังขละบุรี ที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่3)พระราชทานให้พระศรีสุวรรณคีรีที่1 เมื่อครั้งไปร่วมพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่คนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญนเรศวรด้านตะวันตกของสยาม ในอดีตพระพุทธรัตนสังขละบุรี (พระแก้วขาว) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานชุกชี เรียงกัน 3 ชั้น ที่ทำจากโลหะเงิน องค์พระมีขนาดหน้าตัก กว้าง 7 นิ้ว หล่อจากแก้วใสสีเขียวตองอ่อน พระแก้วมรกตองค์นี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรี อยู่ที่วัดสะเนพ่อง มาถึง 200 ปี เป็นพระพุทธรูปที่ชาวกะเหรี่ยงและชาวพุทธให้ความศรัทธาเคารพนับถือมากประดิษฐานภายในวัดสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี  ซึ่งจะอัญเชิญมาประดิษฐานยังปะรำพิธีเป็นการชั่วคราวเพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เพื่อให้ลูกหลานชาวกะเหรี่ยง ได้ร่วมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และพิธีการสุดท้าย คือ การสรงน้ำพระสงฆ์ โดยจะมีการนำไม้ไผ่ผ่าซีก มาวางต่อกันเป็นท่อยาวไปยังซุ้มอาบน้ำที่สร้างขึ้นมา โดยผู้ที่จะมาสรงน้ำพระจะเตรียมน้ำหอมน้ำปรุง มายืนรอข้างๆ รางไม้ไผ่ที่เตรียมไว้

      เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์จะลงมาจากศาลาวัดเพื่อมาสรงน้ำในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ ชาวบ้านทั้งหญิงชาย ทั้งคนหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ รวมทั้งเด็ก จะนั่งคุกเข่ากับพื้น เพื่อเป็นสะพานให้พระสงฆ์เดินลงจากวัดมาสรงน้ำบริเวณที่จัดเตรียมไว้ โดยผู้เข้าร่วมงานจะเทน้ำใส่ในรางไม้ไผ่ที่จะไหลมารวมกันยังจุดที่พระสงฆ์อยู่ ก่อนเดินทางกลับขึ้นวัด ด้วยสะพานมนุษย์อีกครั้ง โดยมีความเชื่อสืบต่อๆ กันมาว่าการเป็นสะพานให้พระเดินหรือเหยียบนั้น สามารถช่วยขจัดปัดเป่าอาการเจ็บป่วย หรือพ้นจากเคราะห์ร้ายต่างๆ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชาวกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง แห่งนี้ที่ไม่เหมือนที่ใด
   //////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...