ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
นายกฯ มอบ สทนช. ร่วมวางแผนฟื้นพื้นที่รับน้ำจากถ้ำหลวง
05 ก.ค. 2561

สนทช. ลงพื้นที่ดูผลกระทบระบายน้ำ จากการช่วยเหลือทีมหมูป่าพร้อมวางแนวทางการระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว คาดฝนไม่ตกเพิ่มน้ำจะลดลงอีก

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพิจารณาวางแนวทางการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างที่รับน้ำจากถ้ำหลวงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ณ จุดสูบน้ำพื้นที่ถ้ำหลวง ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ว่า นอกจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นห่วงการนำทั้ง 13 ชีวิตที่ติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนออกมาแล้ว ยังมีความเป็นห่วงพื้นที่ที่เป็นจุดรับน้ำจากถ้ำหลวง จึงได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ รับฟังปัญหาอุปสรรคในพื้นที่ พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนระบายน้ำในพื้นที่รับน้ำจากถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรและชุมชนของผู้ได้รับผลกระทบและพื้นที่ใกล้เคียงควบคู่กันด้วย

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น พบว่า ระดับน้ำในถ้ำหลวงได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสำรวจเส้นทางน้ำที่คาดว่าจะไหลลงสู่ถ้ำหลวง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้น้ำไหลลงไปเพิ่มเติม รวมถึงทางเบี่ยงน้ำที่ได้ทำไว้ยังคงทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ  แต่อย่างไรก็ตาม ยังหารือหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาเพิ่มเติมที่อาจเป็นอุปสรรคต่อแผนกู้ภัย 13 ชีวิตในถ้ำ และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการกู้ภัยด้วย ขณะเดียวกัน ยังประเมินปริมาณน้ำในถ้ำหลวงที่จะระบายออกมา เพื่อการวางแผนการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้จุดรับน้ำจากถ้ำหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และน้ำไหลผ่านไปได้ไวที่สุดด้วย 

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จุดรับน้ำที่ระบายออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในเขตตำบลบ้านด้ายและตำบลโป่งผา โครงการชลประทานเชียงราย ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่การเกษตรซึ่งรับน้ำที่ระบายออกจากถ้ำหลวง ประมาณ 800 ไร่ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเตรียมแปลง และมีบางส่วนดำเนินการปักดำไปแล้วประมาณ 50 ไร่ ยังคงถูกน้ำท่วมขังอยู่นั้น โครงการชลประทานเชียงรายได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดท่อดูด 16 นิ้ว ท่อส่ง 12 นิ้ว สูบน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 1 เครื่อง มาติดตั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ หมู่ 5 บ้านสันปูเลย ตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย เพื่อลดระดับน้ำที่ท่วมยอดข้าวหรือกล้าที่ปักดำแล้ว เนื่องจากเกษตรกรยังต้องการน้ำในระดับที่ไม่ท่วมมิดยอดต้นข้าว โดยเริ่มสูบน้ำเวลา 11.00 น. ของวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสูบระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้ระบายลงสู่ลำน้ำจ้อง ลำน้ำมะ ลำน้ำลวก ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน  จ.เชียงราย ตามลำดับ และเมื่อเวลา 15.00 น.ในวันเดียวกัน ระดับน้ำได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ โครงการชลประทานเชียงรายยังคงติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ในบริเวณดังกล่าว หากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นก็สามารถสูบน้ำออกจากพื้นที่ได้ทันที รวมถึงบูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรและประชาชนในพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ตามความเสียหายของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเริ่มลดลงแล้ว ซึ้งน้ำมาจากสองส่วนคือ การระบายออกจากถ้ำและน้ำบาดาล ซึ่งสูบออกมาวันละ 68,000 ลบ.เมตร ทำให้น้ำที่สูบออกมาตั้งแต่ วันที่ 26 มิถุนายนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม ลงสู่พื้นที่นาประมาณ 600,000 ลบ.ม. เฉลี่ยลึกประมาณ 50 ซม. เมื่อช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้พื้นที่นาเสียหายได้รับผลกระทบประมาณ 758 ไร่ จากการตรวจสอบพบว่าน้ำทยอยลงจากแม่น้ำแม่จ้องกับแม่ละ ไหลลงสู่แม่น้ำแม่โขงได้ดี ทำให้เกษตรพอใจในระดับหนึ่ง ซึ่งการชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบทางราชการ จากนี้หากไม่มีฝนตกเพิ่ม เชื่อว่าน้ำจะลดลงอย่าวต่อเนื่อง แต่ถ้ามีฝนตกพร้อมที่จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อระบายน้ำ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...