ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ไฟเขียวร่วมเอกชน 6 พันล้าน ก่อสร้าง 6 สถานีขนส่งภูมิภาค
13 พ.ย. 2561

คมนาคม ไฟเขียวเอกชนร่วมทุน 6 พันล้าน สร้างสถานีขนส่งสินค้า 6 จังหวัด ภูมิภาค ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์-เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เกี่ยวกับการดำเนินโครงการสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ว่า ขบ.ได้นำเสนอผลการศึกษาโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคจำนวน 17 แห่ง ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเพียง 6 แห่งเท่านั้น ที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนและควรเร่งดำเนินโครงการคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี มุกดาหาร และหนองคาย เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 6,000 ล้านบาท

เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี โดยมอบให้ ขบ.ไปทบทวนรายละเอียดแผนการดำเนินโครงการให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของการเวนคืนที่ดิน การออกแบบก่อสร้าง เพื่อนำรายละเอียดมาวางกรอบงบประมาณ โดยจะต้องก่อสร้างให้สามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งระบบอื่นๆ ด้วยทั้งท่าเรือบกของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสถานีบรรจุตู้สินค้าทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อบูรณาการการขนส่งสินค้าร่วมกันด้วย

“ขบ.จะต้องกลับไปปรับแผน เพิ่มรายละเอียดส่วนต่างๆ มาให้ครบ และนำกลับมาเสนอกระทรวงคมนาคมอีกครั้งภายในเดือนต.ค.นี้ หากผ่านความเห็นชอบ จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป”

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสถานีขนส่งสินค้าอยู่ 3 แห่ง บริเวณคลองหลวง, พุทธมณฑล และร่มเกล้า ซึ่งที่ผ่านมา มีการบรรทุกไปส่งสินค้ายังจุดหมายปลายทางแล้ว 50% ต้องวิ่งรถเปล่ากลับเนื่องจากปลายทางไม่มีจุดขนส่งสินค้าเชื่อมต่อ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยเปล่าประโยชน์ และทำถนนพังด้วย ซึ่งการสร้างสถานีขนส่งสินค้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อย่างมาก อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศด้วย

สำหรับสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 17 แห่ง ที่ ขบ.มีการนำเสนอประกอบด้วย สถานีขนส่งสินค้าในเมืองชายแดน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ เชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา และนราธิวาส และเมืองหลักอีก 8 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้แผนดังกล่าวจะมีพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบรางและพื้นที่ในการก่อสร้างท่าเรือบก(Dry Port) ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการขนส่งสินค้าครบทุกหมวดการขนส่ง  โดยคาดว่าการจัดทำแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้  และหลังจากนั้นจะเสนอแผนไปยังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) พิจารณาแผนในภาพรวมและการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อเสนอของบประมาณและเข้าสู่กระบวนการเวนคืนที่ดินและเริ่มก่อสร้างต่อไป

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า นอกจากโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนมแล้ว ในส่วนของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้ามีทั้งหมด 19 แห่ง ซึ่งโครงการอีก 17 แห่ง แบ่งเป็น 2 ระยะ โครงการระยะที่ 1 ระหว่างปี 2561-2564 ตั้งอยู่บริเวณชายแดน 9 แห่ง ได้แก่ เชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา, นราธิวาส และโครงการระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562-2565 ตั้งอยู่ในเมืองหลัก 8 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สุราษฎร์ธานี

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายชัยวัฒน์ ยังได้เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะระบบราง ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่

โครงการดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองในภูมิภาค ซึ่งในอนาคตระบบรางจะเป็นระบบที่สำคัญของประเทศไทย จึงใช้ระบบรางเป็นตัวช่วยในการพัฒนาเมือง โดยใช้หลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TRANSIT ORIENTED DEVELOPMENT : TOD) เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่บริเวณโดยรอบสถานี อาศัยศักยภาพและข้อได้เปรียบของการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกดึงดูดให้เกิดการพัฒนาเมือง นอกจากจะได้พัฒนาระบบรางแล้ว ยังได้เครื่องมือในการพัฒนาประเทศด้วย

ทั้งนี้ ได้มอบแนวทางการดำเนินโครงการ ได้แก่ 1. กำชับให้ที่ปรึกษาโครงการฯ ทั้ง 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด บริษัท นิปปอน โคอิ จำกัด บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ NIKKEN SEKKEI Ltd. ให้ทำงานแบบมืออาชีพ และดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จตามแผนภายใน 18 เดือน โดยมีกำหนดเริ่มศึกษาในวันที่ 16 ตุลาคม 2561

2. ผลการศึกษาจะต้องเห็นเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และ 3. เน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการในการพัฒนาพื้นที่ โดยการร่วมคิดและร่วมขับเคลื่อนโครงการให้เกิดความสำเร็จ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...