ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ยุบ-เลิก-รวม สถานะท้องถิ่นคำตอบปฏิรูปแท้จริง?
11 พ.ค. 2559

          อาจเป็นเพราะแม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคลอดออกมาให้เห็นแล้ว แต่ยังต้องรอดูกฎหมายประกอบ หรือกฏหมายลูกกันอีกครั้งหรือไม่ ที่ทำให้ล่าสุดยังมีการเคลื่อนไหวของหน่วยงาน และองค์กรท้องถิ่นยังคงออกมาทั้งสนับสนุน และคัดค้านการยุบเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. แต่หากถามว่าปัจจุบันมีความเข้าใจ หรือรู้ข้อมูลเรื่องนี้กันมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนรวมทั้งผู้ที่อยู่ใน อปท.เองอาจยังไม่ทราบถึงเนื้อหาสาระ ข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นบทความต่อไปนี้ที่รวบรวมโดย  Phachern Thammasarangkoon ซึ่งได้นำความคิดเห็นของนายสรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น มาแจกแจงให้รับรู้พร้อมกันอีกครั้ง ก่อนบทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้จะออกมา

          ประเด็น การยุบ หรือไม่ยุบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์กันอยู่ มีการกล่าวถึงข้อดีข้อเสียกันพอสมควร ในระดับภาษาชาวบ้าน ๆ (ไม่เน้นวิชาการนัก) ลองมาประมวลฟังเสียงเหล่านั้นดูพอแยกประเด็นการยุบ อปท. แยกได้เป็น 3 กรณี คือ (1) การยุบเลิก อปท. โดยการยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบจ.  (2) การยกฐานะ อบต. เป็นการปกครองรูปแบบ "เทศบาล" ยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบต.  (3) การควบรวม อปท. ที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกันเป็น อปท.ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีศักยภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้น

          อนึ่ง มีข้อเสนอให้เปลี่ยนคำว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (อปท.) จากเดิมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาใช้ว่า "องค์กรบริหารท้องถิ่น" เนื่องจากท้องถิ่นเป็นองค์กรสำหรับบริการสาธารณะ และพัฒนาตามความต้องการของประชาชน

          กรณีที่ 1 การยุบเลิก อปท. โดยการยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบจ.

มีข้อถกเถียง ยังไม่ได้ข้อยุติในหลายฝ่ายว่า สมควรจะยุบ อบจ. หรือคงรูปแบบ "อบจ." ไว้ เพียงแต่ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ และโครงสร้างให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยที่มีการปกครอง 3 ส่วน คือการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า การยุบ หรือไม่ยุบ มิใช่ประเด็นปัญหาหลัก ประเด็นอยู่ที่ อบจ. สามารถจัดบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความอยู่ดีกินดีให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้หรือไม่

          โดยกำหนดให้ อบจ. เป็นการปกครองท้องถิ่นใน "ระดับบน" เป็นท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา เป็นฝ่ายอำนวยการ กล่าวคือให้เปลี่ยนอำนาจหน้าที่จากเดิมที่ให้บริการสาธารณะทั่วไปเหมือนท้องถิ่นอื่น เปลี่ยนใหม่ให้บริหารจัดการในอำนาจหน้าที่ที่ท้องถิ่นขนาดเล็ก หรือท้องถิ่นโดยทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้ หรือ กระทำได้แต่มีข้อจำกัด หรือไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในการจัดการศึกษาขนาดใหญ่การรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพขนาดใหญ่การจัดการประปาไฟฟ้าการจัดการน้ำเสียการจัดการขยะ มลพิษ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น

          ข้อดี

1. ดำรงสถานะเดิมไว้ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อใคร ไม่มีผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย แต่ต้องปรับปรุงแบ่งแยกภารกิจให้ชัดเจน อบจ.ควรจะทำงานในลักษณะโครงสร้างขนาดใหญ่และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ในหลายๆเทศบาลกับอบต. เป็นต้น  2. การบริหารจัดการหรือการบริการสาธารณะ ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นนั้น หากเป็นภารกิจที่สำคัญมีภาระมากจนกระทั่งท้องถิ่นขนาดเล็กไม่สามารถดำเนินการได้ แล้วมอบอำนาจให้ราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ เป็นการไม่ถูกต้องตามหลัก "การกระจายอำนาจ" ฉะนั้นหน่วยดำเนินการบริการสาธารณะต้องเป็นท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพที่จะดำเนินการภารกิจนั้นได้  3. เพื่ออุดช่องว่างและเป็นที่พึ่งของท้องถิ่น โดยเฉพาะในส่วนที่ท้องถิ่นขาด หรือในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนว่าอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใด อาทิ เรื่องถนนทางหลวงที่เชื่อมระหว่างตำบล อำเภอ กล่าวคือ ต้องปรับปรุงแบ่งแยกภารกิจให้ชัดเจน อบจ.ควรจะทำงานในลักษณะโครงสร้างขนาดใหญ่และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ในหลายๆ เทศบาลกับ อบต. เป็นต้น  4. ช่วยลดปัญหาความทับซ้อนในพื้นที่ งบประมาณ ภาษี ระหว่างพื้นที่ อบจ.กับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และยังกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลตรงจุดและชัดเจนมากขึ้น เพราะอบจ. เป็นองค์กรที่ทับซ้อนกับ อบต. และ เทศบาลไม่มีพื้นที่ที่เป็นของตนเอง  5. การยุบเลิก อบจ. แต่คง อบต. และ เทศบาลไว้ เพราะประชาชนยังตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิดกว่า อบจ. ที่สมาชิก อบจ. รู้สึกว่าตนเองมีสถานะภาพสูง จนประชาชนเข้าไม่ถึง ความสัมพันธ์ของ อบจ. ห่างไกลกับประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า อบจ. คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร มีความเกี่ยวพันอะไรกับประชาชน ฯลฯ  6. ประหยัดงบประมาณรัฐบาลในการให้เงินอุดหนุน โดยเฉพาะงบประมาณเงินอุดหนุนจากภาครัฐบาล

          ข้อเสีย

1. กระทบต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ข้าราชการ อบจ., นักการเมืองท้องถิ่น ที่จะต้องถูกยุบเลิก และถ่ายโอนตำแหน่ง  2. ในภารกิจการบริการสาธารณะขนาดใหญ่ อปท. ขนาดเล็กจะไม่สามารถดำเนินการได้แม้อาจแก้ไขได้โดยการร่วมมือกับ อปท.ข้างเคียง ในรูปแบบ "สหการ" หรืออื่นใด ก็อาจมีปัญหาทางปฏิบัติ ซึ่งในบางกรณีอาจไม่สามารถกระทำได้เลย  3. มีการต่อต้านจากนักการเมืองของ อบจ. ที่แยกไม่ออกจาก สส. เกือบทุกพรรค และความขัดแย้งทางการเมืองล้วนๆ  4. ปัญหาอิทธิพล การเมืองสกปรก โดยเฉพาะการมีอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่น และมีช่องทางในการทุจริตมาก  5. สิ้นเปลืองงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณเงินอุดหนุนจากภาครัฐบาล

          กรณีที่ 2 การยกฐานะ อบต. เป็นการปกครองรูปแบบ "เทศบาล" ยุบเลิกไม่มีการปกครองรูปแบบ อบต.

          ข้อดี

1. รูปแบบเทศบาลเป็นการปกครองท้องถิ่นที่เป็นรูปแบบสากล มีฝ่ายบริการ และฝ่ายสภาถ่วงดุลอำนาจกันและกันแม้รูปแบบปัจจุบันของไทย จะเป็นรูปแบบ อปท.ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากก็ตาม ซึ่งนานาอารยประเทศนำมาเป็นรูปแบบในการปกครองท้องถิ่น  2. เพื่อให้ อบต. เปลี่ยนฐานะรูปแบบเป็น เทศบาล ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เหมือนกันทั่วประเทศ มีโครงสร้างที่เหมือนกันหมด  3. เมื่อยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลแล้วจะมีภาระตามกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม  4. เป็นส่วนราชการที่มีความรับผิดชอบในพื้นที่ขนาดเล็กเกินไป บางแห่งมีพื้นที่รับผิดชอบไม่ถึง 10 หมู่บ้าน มีประชาชนในความรับผิดชอบน้อยเกินไป บางแห่งมีประชาชนในความรับผิดชอบไม่ถึง 3000 - 4000 คน ต้องสิ้นเปลืองเงินเดือนค่าจ้างบุคลากร และ ค่าตอบแทน ส.อบต.ที่มีจำนวนมาก แต่ภารกิจความรับผิดชอบมีน้อย เนื่องจากมีขนาดเล็ก

          ข้อเสีย

1. เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มบุคคลผู้สูญเสียประโยชน์ โดยเฉพาะการลดจำนวนสมาชิกสภา อปท. เหลือเพียง 12 คน หรือ 18 คน จากเดิมที่มี ส.อปท. ได้หมู่บ้านละ 2 คน  2. พื้นที่ อบต. บางส่วนอาจเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ที่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นป่าเขา เป็นเขตชนบท หรือ เป็นเขตที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ เช่น เป็นเกาะ เป็นชุมชนของเผ่าพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ชาวเขา ชาวมุสลิม ฯ เป็นต้น อาจมีปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานในรูปแบบของเทศบาลได้  3. เมื่อยกฐานะเป็นเทศบาลแล้ว แต่การให้การบริการประชาชนอาจไม่ทั่วถึง เพราะเขตพื้นที่ของ อบต.เดิมมีพื้นที่กว้างขวางมาก สมาชิกลดลงทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง การพัฒนาก็ล่าช้ากว่าการเป็น อบต.  4. หลักการบริหารงาน อปท.ในรูปแบบเทศบาลเป็นการบริหารจัดการ อปท. "เขตพื้นที่เมือง" เป็นสำคัญ แต่เนื่องจากสภาพบ้านเมืองส่วนใหญ่ของ อบต. เป็นชนบท บ้านเมืองไม่แออัด การจราจรไม่วุ่นวาย ไม่จำเป็นต้องเอาระเบียบเทศบาลมาบริหารจัดการ จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะคนชนบทคนท้องถิ่นอยู่กินแบบพื้นบ้านชีวิตเรียบง่ายรักความสันติสุข และ อบต.เป็นหน่วยงานที่เข้าถึงประชาชนใกล้ชิดที่สุดมองเห็นปัญหาจริงๆ  5. จำนวนสมาชิกจะเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับจำนวนหมู่บ้าน สมาชิกที่เพิ่มขึ้นหมายถึงตัวแทนของประชาชน สามารถสะท้อนปัญหาได้มากขึ้น ตัวแทนลดลงหมายถึงการขาดความเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นกับประชาชน

          กรณีที่ 3 การควบรวมหรือการยุบรวม อปท. ที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกันเป็น อปท.ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีศักยภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้น

          ข้อดี

1. การพัฒนา อปท.ขนาดเล็ก ควรเหลือเพียง 2 ระดับ คือ 'อบจ.' ทำหน้าที่ระดับจังหวัด และ 'เทศบาล' ทำหน้าที่ระดับต่ำกว่าจังหวัด ส่วน อบต. ให้ยกฐานะเป็นเทศบาล และเทศบาลขนาดเล็ก ให้ยุบรวมเป็นเทศบาลขนาดใหญ่แทนสำหรับ อปท.ที่มีขนาดเล็ก ต้องมี "การควบรวม" เพราะ อปท.ขนาดเล็กไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกัน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากร เป็นการประหยัดงบประมาณลง และอีกแนวคิดหนึ่งในการควบรวม อปท. เป็นเทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ จะทำให้ อปท. จากจำนวน 7,853 แห่ง เหลืออยู่ 865 แห่ง (รวม กทม.และเมืองพัทยา) คือ เทศบาลนคร / เทศบาลเมือง ก็ยังอยู่เช่นเดิม - ยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล (ทั้งหมด) - ยุบรวม อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาล - ยุบรวม อบต. กับเทศบาลข้างเคียง  2.ในมุมมองของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน พล.อ.สำเริง พินกลาง ประธานคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ยื่นหนังสือแก่นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอให้ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายมิให้เกิดการทับซ้อนกัน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ

          ข้อเสีย

1. การบริหารงาน อปท. หรือ ท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ อาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงประชาชน ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อนของระบบราชการ  2. อาจเกิดการผูกขาดตัดตอนรวบอำนาจโดยผู้มีอิทธิพล เข้ามาครอบงำการบริหารท้องถิ่นได้ง่าย  3. มีปัญหาเรื่อง "ขนาดที่เหมาะสม" ของ อปท.ว่าควรจะมีขนาดที่เหมาะสมจะพิจารณาจากมิติใดเพราะแต่ละท้องที่มีสภาพที่แตกต่างกัน การออกแบบให้มีรูปแบบ อปท.ที่เหมือนกันทั้งหมด จึงขัดแย้งกับ "บริบท" ของท้องถิ่นนั้นๆไม่ว่าจะพิจารณา ในแง่มิติด้านประชากร มิติด้านพื้นที่ หรือ มิติทางด้านเศรษฐกิจสังคมฯอื่นใด เป็นต้น

          มีประเด็นแทรกที่ควรพิจารณาเรื่อง อปท. รูปแบบใหม่ที่ กำลังจะนำเสนอคือ รูปแบบ "จังหวัดจัดการตนเอง" หรือ "จังหวัดปกครองตนเอง"  ตามบริบทและความพร้อมของแต่ละจังหวัด ซึ่งก็ยังมีความเห็นโต้แย้งในรายละเอียดปลีกย่อย

          สรุปในความเห็นของผู้เขียน ตามสามแนวทางนี้ เป็นแนวทางที่หลายฝ่ายต่างมีความเห็นร่วมกัน มีแตกต่างในรายละเอียด และกรอบความคิด โดยเฉพาะการ "ควบรวม" หรือ "การยุบรวม" อปท. เพื่อให้อปท. มีขนาดที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพใน "การจัดการบริการสาธารณะ" ที่สำคัญคือต้อง "ลดภาระรัฐบาลกลางลง" ไม่ว่าในด้านการงบประมาณหรือการอุดหนุนกำกับดูแล

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...