ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
บินเติมน้ำเข้า “เขื่อนภูมิพล”
09 มิ.ย. 2559

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก ชาตินนท์ สท้านไผท ผู้บังคับการกองบิน 41, นาวาอากาศเอก นพนันท์ เกิดศิริ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนการวิจัยยุทโธปกรณ์ กองทัพอากาศ
          นาวาอากาศเอก มนูญ รู้กิจนา รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ และ ดร.รัชนีวรรณ ตาฬุมาศสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฝนหลวง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมหารือ และทำการเปิดโครงการความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพอากาศ “การปฏิบัติการวิจัยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ปี 2559”
          โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกองทัพอากาศ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาพลุสารดูดความชื้นขึ้นเสริมการปฏิบัติการสวนหลวง เพื่อลดปัญหาการใช้สารฝนหลวงชนิดถุงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีความละเอียดมาก และยังคงประสบปัญหาในการเก็บรักษา เนื่องจากมีการจับตัวกันเป็นก้อนได้ง่ายเพราะมีคุณสมบัติที่ไวต่อการดูดความชื้น ทำให้มีความยุ่งยากหรือเสียเวลาในการบดซ้ำก่อนนำขึ้นเครื่องบิน
          ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงพยายามหาวิธีปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จนสามารถผลิตพลุสารดูดความชื้นขึ้น โดยใช้หลักการเผาไหม้สารจำพวกเกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ เพื่อให้อนุภาคของเกลือที่ถูกเผาไหม้ทำหน้าที่เป็นแกนกลั่นตัวของเม็ดฝนด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและวิจัยมาตั้งแต่ปี 2547 จนสามารถผลิตต้นแบบของพลุสารดูดความชื้น รวมทั้งออกแบบสร้างอุปกรณ์ติดตั้งและควบคุมการจุดพลุกับเครื่องบิน AU-23A ของกองทัพอากาศได้สำเร็จในปี 2549 และได้เริ่มนำมาทดสอบกับกลุ่มเมฆฝนจริงตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

          อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ ในการประดิษฐ์และคิดค้นวิธีการทำพลุสารดูดความชื้นจนสำเร็จจำนวน 2 ชนิด คือ พลุสารแคลเซียมคลอไรด์ และพลุสารโซเดียมคลอไรด์ ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน AU-23A ของกองทัพอากาศ เพื่อปฏิบัติการทดลองการทำฝนหลวงเมฆอุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเมฆที่ทำฝนกับเมฆธรรมชาติที่ไม่มีการใช้พลุ พบว่าพลุสารดูดความชื้นทั้ง 2 ชนิดสามารถทำให้เมฆฝนมีขนาดใหญ่ขึ้น และก่อยอดได้สูงขึ้น ส่งผลทำให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นกว่าฝนที่ตกจากธรรมชาติ

          อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นพลุสารดูดความชื้นทั้ง 2 ชนิดนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงทดลองใช้ร่วมกับสารชนิดผงละเอียดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติการฝนหลวง สำหรับการปฏิบัติการวิจัยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ปี 2559 นั้น นายเลอศักดิ์บอกว่า ปฏิบัติการในช่วงระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 59-31 ส.ค. 59 โดยใช้เครื่องบินฝนหลวงทำการบินโปรยสารฝนหลวง แล้วประยุกต์เสริมด้วยการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศยิงพลุสารแคลเซียมคลอไรด์ และพลุสารโซเดียมคลอไรด์

          เมื่อปฏิบัติการร่วมกันจะช่วยเสริมประสิทธิภาพ ทำให้ก้อนเมฆฝนใหญ่ขึ้นและมีฝนตกลงมามากขึ้น ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการเติมน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพลตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          ขณะนี้ฝนหลวงได้มีการย้ายฐานปฏิบัติการมาตั้งอยู่ที่จังหวัดตากแล้ว พร้อมมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการสนับสนุนภารกิจอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งการปฏิบัติการจะมีการประเมินสถานการณ์และวางแผนร่วมกันทุกวันตอนเช้า จากข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถานีเรดาร์ตรวจสภาพอากาศที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตลอดช่วงปฏิบัติการคาดหวังทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

          ขณะที่รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ กล่าวว่า ทางกองทัพอากาศให้การสนับสนุนการปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างเต็มที่ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. เครื่องบินและเจ้าหน้าที่ 2. สนามบินของกองทัพอากาศทุกแห่ง และ 3. การวิจัย ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือกันด้วยดีตลอดมา เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพและได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายมากที่สุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...