ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
เลือกอุ้มเอสเอ็มอีภาคการผลิต7พันแห่ง
13 พ.ย. 2558

                นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ เอสเอ็มอี  โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ(เทิร์น อะราวน์) ภายใต้งบประมาณ 630 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังมีปัญหาอยู่  17,000 ราย ให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้นั้น   กลุ่มเป้าหมายของโครงการจะเป็นภาคการผลิต จำนวน 7,000 กิจการ ซึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบ  ส่วนภาคการค้าและบริการ จะมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)เป็นผู้ดูแล โดยส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าธนาคารของรัฐ

                สำหรับหลักเกณฑ์คัดเลือก ผู้ประกอบการที่ กสอ.กำหนดไว้ ประกอบ ด้วย 1.เป็นกิจการที่ประสบปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินธุรกิจในรอบ 6 เดือน มียอดขายหรือกำไรลดลง โดยพิจารณาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าสาธารณูปโภค ยอดการสั่งซื้อ-ขายวัตถุดิบ ฯลฯ 2.เป็นนิติบุคคล/มีการจดทะเบียนการค้า 3.มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย ร้อยละ 51 ขึ้นไป 4.ดำเนินธุรกิจ 3 ปีขึ้นไป 5.มีที่ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดที่ยื่นใบสมัคร 6.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย 7.ไม่เป็น กิจการในเครือข่ายของบริษัทแม่ 8.เป็นธุรกิจที่ไม่ขัดต่อ ศีลธรรม

                โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการ เอสเอ็มอี เทิร์น อะราวน์ โดยล่าสุดได้แต่งตั้ง คณะทำงานย่อยระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 7,000 กิจการจากทั่วประเทศ

                นายอาทิตย์ กล่าวอีก ว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้นโยบาย SMEs เป็นวาระแห่งชาติโดยมีแนวทางปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม  ซึ่งใช้ประโยชน์จากที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนยกระดับให้ SMEs เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ขยายตัวร้อยละ 1 ภายในปี 2559 คิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท

                “ช่องทางหนึ่งที่น่าจะเกิดประโยชน์ได้สูงสุด และสอดคล้องตามที่รัฐบาลกำหนดไว้คือ การพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0 ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ใช้ระบบการจัดการทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า  รวมถึงพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น  รวมทั้งใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยกระบวนการการผลิต แนวทาง Industry 4.0 จะถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติอยู่ขณะนี้”

               รวมทั้งจะพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต้องเพิ่มบทบาทอุตสาหกรรมและบริการจากยุคที่ 2 ไปสู่ยุคที่ 3 เพื่อหนีห่างประเทศเพื่อนบ้าน จากที่พึ่งพาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไปสู่การเพิ่มความเข้มแข็งและสัดส่วนความเป็นเจ้าของของคนไทยมากขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...