ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมอภิปราย
31 ม.ค. 2561

วันพุธที่ 31 มกราคม 2561 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “บทบาทเรือข่ายการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” โดยมีนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี นายธงชัย ลืออดุลย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพิเชษฐ พุ่มพันธุ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอภิรัตน์ รัตนนาคิน ผู้ก่อตั้งร่วมด้วยช่วยกัน เป็นผู้เข้าร่วมอภิปรายด้วย ณ โรงแรมโกลเด้นซิดี้ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

นายสุทธิพงษ์ได้กล่าวถึงบทบาท อำนาจหน้าที่ แนวทาง และกลยุทธ์ ในการดำเนินการด้านธรรมาภิบาลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อต่อต้านการทุจริตว่า กรมฯ ต้องมีบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวทางพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาใช้ เพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ และให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ โดยกรมฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นไปตาม พรฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ประกอบไปด้วย ๗ เป้าหมาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจภาครัฐ เพื่อความมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น เพื่อปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ให้ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และเพื่อให้ได้มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ 

ทางด้านความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล และมุ่งเน้นด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( สำนักงาน ป.ป.ช. ) ในการพัฒนาระบบประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Integrity&Transparency Assessment) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เสนอการบูรณาการเครื่องมือการประเมินคุณธรรมการดำเนินงาน (Integrity Assessment) หน่วยงานภาครัฐและดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าด้วยกัน เพื่อให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของสำนักงาน ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยมุ่งหวังให้เกิดการบริหารงานที่โปร่งใสและเป็นธรรมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดระดับของ Integrity Assessment ตามผลที่ได้รับจากการประเมินดังกล่าว เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมธรรมาภิบาลและป้องกันการทุจริตและพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย


นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ได้กล่าวถึงการยกย่องเชิดชู สร้างขวัญและกำลังใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลว่า กรมฯ ได้มีการคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อมอบรางวัลให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 – ปี 2552 และหลังจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับรางวัลถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดี และในปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในการให้รางวัลการบริหารจัดการที่ดีและธรรมาภิบาลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี (Best Practice) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาและให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงปลูกฝังค่านิยมคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกและความซื่อสัตย์สุจริตในการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่กับการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงตอบสนองความต้องการ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบราชการ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ผลอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคม ว่าต้องมีค่านิยมที่ถูกต้อง ซึ่งควรปลูกฝังและสร้างการรับรู้ค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก ส่งเสริมให้มีการเพิ่มพูนคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เด็กได้รับการพัฒนาครบทุกด้าน รวมถึงเด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาด้วย โดยผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา อาจจะต้องช่วยพิจารณาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้มีการนำเอาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม มาสอดแทรกในวิชาการเรียนการสอน มีกิจกรรมที่ให้ได้ใกล้ชิดกับสิ่งที่เป็นมงคลของชีวิต เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้อยู่ในจิตใจ และชีวิตประจำวัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะเป็นคนที่ใช้ระเบียบ กฎหมาย ยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม และมีจิตสำนึกที่ดี ตระหนักถึงคุณธรรม ความดีงาม รวมทั้งประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี นอกจากนี้ ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ช่องทางในการติดตาม หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตด้วย เพราะภาคประชาชน ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ปัญหาการทุจริตเบาบางลง ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน คือสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้เกิด เมื่อเกิดการประสานความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนกับข้าราชการแล้ว สิ่งดีๆ ที่จะตามมาคือ “สังคมแห่งการเรียนรู้” นั่นเอง อธิบดีกล่าวปิดท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...