ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่มอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
05 มี.ค. 2561

         เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่มอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องถิ่นอำเภอ กว่า 300 คน เข้ารับฟัง โดยมีนาย นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมาให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองเมืองปัก จากนั้นในเวลา 15.30 น. เดินทางเข้าตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการทำงานให้แก่ผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลเมืองเมืองปัก ณ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

         อธิบดีได้กล่าวถึงการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มุ่งหวังให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกรมฯ ตระหนักว่า เด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต กรมฯ จึงจะผลักดันให้มีแนวทางในการเปิดรับดูแลเด็กเล็กตลอดทั้งปี ไม่มีปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้ปกครองสามารถไว้วางใจเมื่อลูกหลานมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น รวมถึงจัดอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เด็กไทย ต้องกินไข่วันละฟอง เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จะต้องจัดมุมหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้พิจารณาจากสภาพอาคารและขนาดพื้นที่ห้องเรียนตามความเหมาะสมของแต่ละศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งมุมหนังสือดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้เด็กได้ดูรูปภาพ อ่านหนังสือนิทาน ฟังนิทาน และครูผู้ดูแลเด็กต้องจัดกิจกรรมในมุมหนังสือเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับตัวหนังสือด้วย เพื่อปลูกฝังการรักการอ่านของเด็กไทย ให้เด็กไทยเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติ 

         อธิบดียังได้กล่าวต่อถึงสถิติของปี พ.ศ.2559 ที่มีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำ ทั้งสิ้น 699 คน จึงนับเป็นอันดับต้นๆ ในเรื่องของการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็ก และที่สำคัญเด็กที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี นั้น สาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตจะมาจากการจมน้ำ กรมฯ จึงเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันฝึกฝนอบรมเด็กให้มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อดูแลตนเองให้พ้นจากการจมน้ำ โดยให้ป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ จึงต้องให้เด็กเล็ก นักเรียน และประชาชนทั่วไป ได้มีทักษะการว่ายน้ำ สามารถช่วยเหลือตนเองให้สามารถว่ายน้ำ และรอดจากการเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการฝึกหัดว่ายน้ำ และเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีช่วยชีวิตคนจากการจมน้ำ ในรูปแบบของวิธีการช่วยเหลือตามมาตรฐานสากล โดยใช้อุปกรณ์ใกล้มือ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งแนวทางการป้องกันเด็กจมน้ำในเด็กปฐมวัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปด้วยแล้ว 

         ทางด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอย อธิบดีได้ฝากถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ให้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยเน้นย้ำในเรื่องการสร้างจิตสำนึก ให้สังคมตระหนักรู้ถึงหลักการ 3Rs หรือ 3ช (ใช้น้อย - Reduce /ใช้ซ้ำ -Reuse / นำกลับมาใช้ใหม่ - Recycle) ร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยให้ผู้บริหารท้องถิ่นและท้องที่ เป็นแกนนำหลักในการสร้างจิตสำนึก และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน รวมถึงร่วมกันสานต่อแนวทางของ ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน โดยช่วยกันจัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” ในครัวเรือนของตน โดยใช้จุดพื้นที่ที่ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนได้จัดทำไว้ นำไปเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์และขยะเปียกให้แก่พี่น้องประชาชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมมือกันจัดทำให้ครบทุกครัวเรือนด้วย

         จากนั้นอธิบดีได้กล่าวย้ำถึง การร่วมเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก หรือ อถล. ในการร่วมมือกันดูแลครอบครัวของตนเองให้รู้จักการคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะพิษ โดยให้เป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ในการมีส่วนร่วมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ โดยกรมฯ ตั้งเป้าหมายให้มีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก หรือ อถล. ให้ได้อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน ในทุกพื้นที่ด้วย

         และในตอนท้ายอธิบดีได้กล่าวเสริม ในเรื่องของนโยบายการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยให้ส่วนราชการ/หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการและพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา ซึ่งกรมฯ ได้เร่งสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนนี้ให้เป็นไปอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรก อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางรายย่อยอีกทางหนึ่งด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...