ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
รมว.กระทรวงทรัพยลุยแก้ปัญาช้างป่า
14 ก.ย. 2562

“วราวุธ” ลุยแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่

          ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือประชาชน ร่วมกับกลุ่มทรู เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

        นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธาน ในพิธีเปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Kuiburi’s Elephant Smart Early Warning System) ร่วมด้วย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู  นางสาวพิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย ผู้แทนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

      นายวราวุธ กล่าวว่า การจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้น้อมนำอัญเชิญ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9 ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ว่า “ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติ คือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆและกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า” กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงน้อมนำพระราชดำรัส มาใช้เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว

       ส่งผลให้ปัญหาได้คลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว และต่อมากรมอุทยานแห่งชาติฯและกลุ่มทรู ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือตามโครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ซึ่งได้ตระหนักว่า พื้นที่ชายป่ารอยต่อระหว่างเขตอนุรักษ์และพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ดังนั้น ในการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงนำความรู้ของทั้ง 2 หน่วยงาน มาร่วมกันแก้ปัญหา โดยการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบทันทีทันใด (real time) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อจะได้นำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองช้างป่าในพื้นที่ และจะเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆด้วย” 

       นายธัญญา  กล่าวว่า ทั้งนี้ในการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ บริเวณพื้นที่ป่าก่อนถึงพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎรจำนวน 25 จุด เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลผ่านศูนย์ฯดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันเข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่ากลับคืนเข้าไปในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก่อนที่ช้างป่าจะออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรได้อย่างทันท่วงที

      จากการรายงานในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน  ระยะเวลา 10 เดือน พบว่า กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติดังกล่าว สามารถบันทึกภาพช้างป่า จำนวน 518 ครั้ง รวม 1,826 ภาพ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ได้พบช้างป่าบางแห่งได้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร เพียงจำนวน 27 ครั้ง เท่านั้น

     ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจากข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่เฝ้าระวังช้างป่าก่อนมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติในช่วงเวลาเดียวกัน (พ.ย.60 – ส.ค.61) พบว่าช้างป่าได้ออกมา ทำลายพืชผล ทางการเกษตรของราษฎร จำนวน 628 ครั้ง และพบความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร จำนวน 217 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่าได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก

     “อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งที่พบสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมถึงช้างป่าและเสือโคร่ง ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลก จึงหวังว่าโครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมกันนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ กลยุทธ์และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง”นายธัญญา กล่าวทิ้งท้าย

 

           

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...